ผู้ว่าฯระยองเผยผลตรวจฝุ่นแดงจากซีเซียม-137 พบค่ารังสีอันตรายไม่เกินมาตรฐาน กรอ.จ่อร่วมถกสำนักปรมาณูเพื่อสันติเชื่อมข้อมูลระหว่างกันป้องกันซ้ำรอยเหตุ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวชี้แจงกรณีพบวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 จากโรงงานหลอมเหล็ก จ.ปราจีนบุรี ส่งฝุ่นจากการหลอมเหล็กมาที่โรงงานในพื้นที่ จ.ระยอง ว่า ได้ชี้แจงมายังปลัดกระทรวงมหาดไทยแล้ว ซึ่งทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่า บริษัท เค.พี.พี.สตีล จำกัด ประกอบกิจการรีดเหล็กเส้นกลมและข้ออ้อย และผลิตภัณฑ์เหล็กทุกชนิด ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 111 หมู่ที่ 6 ต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ได้ส่งกากอุตสาหกรรมฝุ่นจากระบบบำบัดมลพิษอากาศจากเตาหลอมเหล็ก เพื่อดำเนินการคืนสภาพนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ จำนวนประมาณ 10 ตัน มายังบริษัท เอ็น เอฟ เอ็ม อาร์ จำกัด ประกอบกิจการ นำเศษผงโลหะจากระบบบำบัดอากาศในโรงงานผลิตโลหะ มาคืนสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ในกระบวนการผลิตโลหะ ทะเบียนโรงงาน 3-106-1/64รย โดยโรงงานหลอมเหล็กได้มีการขออนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกนอกโรงงานถูกต้อง
นายไตรภพ กล่าวต่อว่า ขณะนี้พนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุตสากรรมจังหวัดระยอง พร้อมด้วยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันออก สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สาธารณสุขจังหวัดระยอง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบภายในบริเวณโรงงานทั้งหมดแล้ว ไม่พบค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน 0.15 ไมโครซีเวลิ์ด/ชั่วโมง
ทางด้าน นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า จากความร่วมมือตรวจสอบเช้าวันนี้ 08.30 น. และได้รับรายงาน เมื่อเวลา 10.15น. ไม่พบฝุ่นแดงจากการหลอม ซีเซียม-137 ที่โรงงานรีไซเคิล NSNR จ.ระยอง นับเป็นข่าวดีของชาวระยอง และเป็นการยืนยันว่า ฝุ่นแดงของซีเซียม-137 ยังคงอยู่ที่โรงงานหลอมเหล็กเคพีพี ที่ จ.ปราจีนบุรี ทั้งนี้การย้ายฝุ่นแดงเป็นไปตาม พรบ.กรมโรงงานที่ต้องมีการแจ้งย้ายกากอุตสาหกรรมจากการหลอมเหล็ก โดยเคพีพี แจ้งย้ายเมื่อวันที่ 2 มี.ค.66 จำนวน 12.4 ตัน แจ้งไปโรงงาน NSNR จ.ระยอง
โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ พร้อมด้วยอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมการปกครอง ได้ออกตรวจสอบการปฏิบัติงานโรงถลุงเหล็กในพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี รอบแรกเข้าไปตรวจสอบบริเวณกองเศษเหล็ก แต่ไม่พบกล่องเหล็กที่บรรจุสารกัมมันตภาพรังสีซีเซียม-137 รอบสองนำเครื่องมือเข้าตรวจสอบบริเวณฝุ่นแดง ปรากฏพบสารกัมมันตภาพรังสีซีเซียม-137 แต่ไม่พบผลิตภัณฑ์เหล็ก เจ้าหน้าที่จึงได้อายัดปิดกั้นพื้นที่ สำหรับฝุ่นแดง คือเมื่อนำเศษเหล็กไปถลุงจะได้น้ำเหล็กออกมา ซึ่งเหล็กจุดหลอมเหลวจะสูงมาก แต่สังกะสีและซีเซียม-137 ที่เป็นสารกัมมันตภาพรังสี จุดเดือดจะต่ำกว่าเหล็กมันจึงระเหิดกลายเป็นฝุ่นแดง คาดการณ์ว่าเหล็กสารกัมมันตภาพรังสี ซีเซียม-137 น่าจะถูกถลุงหมดแล้ว
ทั้งนี้การตรวจพบซีเซียม-137 ที่หายไปครั้งนี้นับเป็นอุบัติเหตุ โดยการดูแลกัมมันภาพรังสีซีเซียม-137 ของโรงไฟฟ้า NPS นั้นอยู่ภายใต้กฏหมายของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติที่มีกฎหมายดูแลเฉพาะ ในขณะที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะดูแลในเรื่องจำนวนปริมาณที่โรงงานใช้จะต้องมีการรายงานทุกเดือนเมษายน ซึ่งปี 2565 พบว่า ปริมาณยังครบจำนวน 10 ชิ้น แต่ปีนี้ทางโรงไฟฟ้ามีการตรวจสอบเมื่อเดือนมีนาคมและจะรายงานต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมเดือน เมษายน จึงรับทราบว่า หายไป 1 ชิ้น และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งติดตามแก้ปํญหาดังกล่าว
สำหรับโรงถลุงเหล็กในไทยนำเข้าเศษเหล็ก ทั้งจากการนำเข้าจากต่างประเทศ และในประเทศ โดยในต่างประเทศจะพบว่ามีข่าวสารกัมมันตะรังสีปนเปื้อนกับเศษเหล็กเหล่านี้ทุกชิปเมนต์ ดังนั้นเพื่อป้องกันอันตรายไม่ให้เกิดกับประเทศ จากนั้นไปกรมโรงงานอุตสาหกรรมคงจะหารือร่วมกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเพื่อวางมาตรการป้องกันปัญหานี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีก