มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์จัดงานแถลงข่าว 'กฎหมายใหม่สำหรับยุคใหม่ของพนักงานบริการ' หน่วยงานภาครัฐ-นักวิชาการ-ตัวแทนพนักงานบริการ-องค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วม ด้านอธิบดีกรมกิจการสตรีเผย เตรียมเสนอกฎหมายให้รัฐบาลชุดใหม่ไม่เกินเดือน ส.ค. 2566
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2566 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCTC) มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์จัดงานแถลงข่าว 'กฎหมายใหม่สำหรับยุคใหม่ของพนักงานบริการ' ถึงเวลายกเลิกความผิดค้าประเวณี คืนความเป็นคนไม่ถูกตีตรา คืนความเป็นงานเป็นแรงงานคนหนึ่ง ไม่ใช่อาชญากรไม่ต้องจ่ายส่วย ภายในงานมีนักวิชาการ ตัวแทนพนักงานบริการ (sex worker) เจ้าหน้าที่รัฐและตัวแทนองค์กรแรงงานระหว่างประเทศเข้าร่วม
นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการค้าประเวณีล่าสุด คือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ซึ่งเป็นระยะเวลาถึง 27 ปี จึงไม่สอดคล้องกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่เปลี่ยนแปลง
ต่อมาในปี 2564 ได้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามฯ 2539 ว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ จากการรับฟังความคิดเห็นทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ผู้ให้บริการหรือเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ (sex worker) ตลอดทุกภาคส่วนได้ร่วมให้ความคิดเห็น โดยเห็นตรงกันว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามฯ 2539 ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้ค้าประเวณีถูกเอาเปรียบ มีเรื่องการขูดรีด มีช่องทางส่วย การแสวงหาประโยชน์
ความเห็นที่น่าสนใจ คือ การค้าประเวณีหรือเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ถ้าสมัครใจไม่ควรมีความผิดทางอาญา แต่ในส่วนการค้าประเวณีเด็กควรมีความผิด และควรมีการป้องกันไม่ให้มีการแสวงหาประโยชน์ในเรื่องนี้ ที่สำคัญต้องคิดในเรื่องการคุ้มครองเป็นหลัก จากเดิมที่เป็นเรื่องของการป้องกันและปราบปราม เป็นการคุ้มครองเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ โดยใช้เวลาถึง 1 ปีเต็มในการรับฟังความคิดเห็น ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการระดับชาติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามฯ 2539 ซึ่งได้ข้อสรุปว่าต้องแก้กฎหมายนี้เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล ซึ่งใช้เวลาตั้งแต่ต้นปี 2565 ในการร่างกฎหมายฉบับใหม่ มีตนเป็นประธานคณะกรรมการร่างกฎหมาย และผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วม
“หัวใจสำคัญของร่างนี้คือการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนมีตัวแทนเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ด้วย ทำงานอย่างรอบคอบ ขณะนี้อยู่ในขั้นรับฟังความคิดเห็น มันไม่ใช่แก้ไข แต่คือการยกเลิกฉบับเดิมเลย เน้นการคุ้มครองสิทธิของผู้ให้บริการ ถ้ามีรัฐบาลและรัฐมนตรีใหม่ น่าจะเสนอได้ในเดือนก.ค.ไม่เกิน ส.ค. เราก็จะเสนอกฎหมายฉบับนี้ให้รัฐมนตรีและ ครม. ต่อไปตามขั้นตอคน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากฎหมายนี้จะผ่าน เชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เพราะที่ผ่านมาฝ่ายการเมืองเองก็เห็นด้วย คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญตามหลักสากล โดยในเดือน พ.ย.นี้ประเทศไทยต้องจัดส่งรายงานต่ออนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (ซีดอร์) และกฎหมายนี้จะทำให้ซีดอร์เห็นถึงความพยายามของประเทศไทยในการแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วย” นางจินตนากล่าว
ศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ…. ข้อแรกสอดคล้องกับหลักการของซีดอร์ ซึ่งในเรื่องการลงโทษผู้ค้าประเวณี ที่กระทำในสถานค้าประเวณี ควรจะยกเลิกได้แล้ว ข้อสอง เดิมการอยู่ในสถานค้าประเวณี ทั้งสมัครใจหรือไม่สมัครใจมีโทษปรับ สามเรื่องการลงประชาสัมพันธ์เพื่อชักชวนคนซื้อประเวณี ก็มีโทษปรับเช่นกัน ที่ผ่านมา 3 ฐานความผิดนี้ทำให้ผู้ค้าประเวณีผิดไปด้วย ร่างกฎหมายฉบับใหม่ จะไม่เอาผิดในส่วนข้างต้นและยกเลิก รวมทั้งมีความสอดคล้องกับอนุสัญญาป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยถ้าสถานประกอบการค้าประเวณี ผู้ให้บริการมีอายุเกิน 20 ปี และสมัครใจจะไม่มีความผิดทั้งผู้ประกอบการและผู้ให้บริการ ส่วนนี้ตอบโจทย์ของซีดอร์ที่ผู้ให้บริการจะไม่ต้องโทษอาญาแน่นอน อีกทั้งเรามองว่าจะทำอย่างไรให้กฎมายฉบับนี้ประกันสิทธิ์เซ็กซ์เวิร์กเกอร์ ในเรื่องการเข้าถึงสาธารณสุข และการตรวจสุขภาพ จึงเขียนไว้ในกฎหมายว่าเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ และสามารถสมัครเป็นผู้ประกันสังคมได้ รวมทั้งมีหลักประกันในเรื่องค่าจ้างที่เป็นธรรม โดยให้เป็นการตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เป็นการการันตีสิทธิ์ที่เขียนไว้ในมาตรา 16
“ในกฎหมายฉบับนี้ หลักการคือยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามฯ 2539 หลักการต่อมา คือ เรื่องสิทธิหรือความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการทางเพศกับผู้ใช้บริการทางเพศ มีหลักประกันสิทธิของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ หลักการสำคัญคือผู้ให้บริการทางเพศต้องมีสิทธิ สัญญาต่าง ๆ ระหว่างสถานประกอบการต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายฉบับนี้กำหนดไว้ ทั้งเรื่องค่าตอบแทนที่ไม่ขึ้นกับแรงงานขั้นต่ำ เพราะโดยปกติรายได้จากการค้าประเวณีสูงกว่าแรงงานต่ำอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราคำนึงคือค่าตอบแทนที่สถานประกอบการหัก เดิม 60-70% ตรงนี้กฎหมายมีแนวทางที่คณะกรรมการในกฎหมายนี้จะกำหนดกรอบไว้ เพื่อให้เกิดความยุติธรรม และมีกลไกในการไกล่เกลี่ย เพื่อไม่ต้องไปฟ้องศาลให้เสียเวลา” ศาสตราจารย์ณรงค์กล่าว
ศาสตราจารย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นเดิมผู้ประกอบการตั้งสถานบริการทางเพศ ถือว่าเป็นความผิดทั้งหมด แต่ในกฎหมายนี้เขียนว่าผู้ที่ตั้งสถานประกอบกิจการทางเพศ และมีคนที่มาทำงานอายุ 20 ปี ผู้ที่มาให้บริการไม่ต้องจดทะเบียน แต่ให้จดทะเบียนผู้ประกอบการ และมีอายุใบทะเบียน 3 ปี หากไม่ต่ออายุถือว่ามีความผิด และเราจะไม่ยอมให้คนอายุต่ำกว่า 20 ปีมาใช้บริการ นอกจากนั้นจะมีคณะกรรมการระดับชาติ และมีตัวแทนองค์กรเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ไปนั่งในคณะกรรมการด้วย เพื่อวางแนวทางและหลักเกณฑ์ดำเนินการต่างๆต่อไป
อีกทั้งจุดสำคัญในการผลักดันกฎหมายนี้ คือสังคมไทยยังมองว่าเรื่องนี้ไม่น่าเป็นอาชีพ จึงอาจมีการคัดค้าน แต่กฎหมายนี้เขียนปกป้องครอบคลุมเด็ก ฃและผู้ให้บริการไว้ทุกส่วน จึงอยากช่วยให้เผยแพร่แนวคิดว่าเป็นเรื่องสิทธิสตรี และสิทธิมนุษยชนที่ต้องได้รับการคุ้มครอง เพราะที่ผ่านมาการค้าประเวณีเป็นความผิดอาญาทำให้เกิดการเอาเปรียบและหาผลประโยชน์ได้ กฎหมายจึงมาเติมตรงนี้ สิ่งที่จะต้องผลักดันต่อคือคนที่บังคับใช้กฎหมายซึ่งมีเส้นแบ่งบาง ๆ จะมีการแอบแฝงนำเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือมีการบังคับค้าประเวณี จึงมีกลไกกฎหมายเข้าเกี่ยวข้อง และต้องมีกลไกมอนิเตอร์ตรงนี้ ถ้ากฎหมายผ่านได้จะเป็นการยกระดับจากใต้ดินที่ต้องจ่ายส่วย มาอยู่บนดินให้ได้รับการคุ้มครองได้
นางสาวทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและตัวแทนพนักงานบริการจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์
นางสาวทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและตัวแทนพนักงานบริการจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวว่า ครั้งแรกที่ไปกับผู้ชาย เพราะว่าอยากหาค่านมลูก ตนทำงานมาสามารถส่งลูกจนจบปริญญาตรี 2 คน ทำงานครั้งแรกไม่ได้คิดถึงเรื่องกฎหมายแม้แต่น้อย รู้แต่เป็นงานที่ไม่ดีเพราะสังคมบอกว่าไม่ดี แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เมื่อเข้ามาทำจริงจังเป็นงานไม่ใช้วุฒิการศึกษา ไม่ต้องลงทุนมากมาย และสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ พอมาทำจริงก็เจอว่าวางแก้วแรงโดนหักเงิน ไม่สบายมาสายโดนหักเงิน ทำให้สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น สุดท้ายมารู้ว่าเป็นความพยายามจากเจ้าของร้านในการเอาเงินไปจ่ายส่วย จึงเป็นครั้งแรกที่เราเรียนรู้เรื่องกฎหมายจากความไม่ยุติธรรม พวกเราพยายามต่อสู้โดยถามหาความยุติธรรมทุกเวที ผ่านมาเป็น 10 รัฐบาล ทุกเวทีบอกเราไม่สามารถ ทำงานถูกต้องตามกฎหมายได้ เพราะเราไม่ใช่ลูกจ้าง และบอกว่าเราทำงานผิดกฎหมาย คนที่บอกเราตอนกลางวันว่าทำไม่ได้ ก็คือลูกค้าเราตอนกลางคืนนั่นเอง อีกทั้งงานบริการเป็นงานไม่ใช้ต้นทุนแต่ต้องใช้ทักษะและลักษณะนิสัยในการทำงานจึงจะสามารถทำงานนี้ได้
"เราผ่านวิกฤตมาเยอะ ทั้งสึนามิ น้ำท่วมใหญ่ เสื้อสองสีตีกัน และโควิด ทุกวิกฤตที่ผ่านมาทำให้เราตกงานและไม่มีอะไรรองรับเราเลย พวกเรา 80 เปอร์เซ็นต์เป็นแม่ และคนที่ดูแลครอบครัว เฉลี่ยเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ 1 คนดูแลคนข้างหลัง 5 คน จึงไม่ใช่แค่เราที่เจ็บในเวลาที่ตกงาน เราไม่ได้เรียกร้องมากกว่าคนอื่น ขอให้ได้เท่ากับคนอื่นในสังคมเท่านั้น จริงๆ แล้วตลอดเวลาที่ผ่านมาหลายปี มีความพยายามอยู่หลายหน่วยงานที่จะสร้างกฎหมายใหม่ๆ ออกมา บอกว่าอยากจะช่วยเหลือเรา ไม่ว่าในรูปแบบการจดทะเบียนคนทำงานก็ดี จดทะเบียนสถานประกอบการ หรือให้ลูกค้าผิดกฎหมายก็มี ซึ่งเราคัดค้านมาตลอดเพราะกฎหมายที่สร้างขึ้นมาไม่เคยมีเราเข้าไปเป็นส่วนร่วม ทั้งที่เราเป็นผู้ถูกใช้กฎหมาย"
"แต่มีความตื่นเต้นกับกฎหมายใหม่ตรงนี้ เพราะเรามีส่วนร่วมในการสร้างขึ้นมา ถามว่ากฎหมายนี้มีแล้วอะไรจะเกิดขึ้นในสังคม แน่นอนการทำงานยังเหมือนเดิม จำนวนพนักงานบริการก็เท่าเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงอาจมองเห็นมากขึ้นเท่านั้น แต่สิ่งที่จะหายไปสังคมไทยคืออาชญากรจะหายไปจากสังคมไทยหลายคน เพราะจะกลายเป็นแค่แรงงานหรือคนทำงานเท่านั้น เราจึงเห็นความสำคัญของกฎหมายนี้ เพราะทำให้เราไม่อยู่ในธุรกิจสีเทาอีกต่อไป เปลี่ยนส่วยเป็นภาษีของประเทศชาติได้ เปลี่ยนการวิ่งหนีตำรวจกลายเป็นมาคุ้มครองเราได้ นี่คือสิ่งที่เราต้องการ" นางสาวทันตากล่าว
นางสาวทันตา กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการจ่ายภาษีเป็นหน้าที่ของเราทุกคน และเราอยากจ่ายอยู่แล้ว มีงานวิจัยว่าธุรกิจภาคบริการมีมูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านต่อปี เป็นงานวิจัย 10 กว่าปีมาแล้ว ถ้าเงินส่วนนี้มาเป็นภาษีสังคมเราจะดีขนาดไหน และการจ่ายภาษียังดีกว่าที่เราจ่ายส่วยทุกวันนี้ โดยจะให้เป็นการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็ได้
Ms.Anna Olsen องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)
Ms.Anna Olsen องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กล่าวว่า เราขอชื่นชมรัฐบาลได้ที่เห็นว่า พ.ร.บ.ใช้ไม่ได้แล้ว แล้วมีความพยายามในการทำงานกับพนักงานบริการ นักวิชาการ ในการร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้น แล้วยังมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นโดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราต้องยอมรับว่ามีพนักงานบริการกว่า 300,000 คน ที่เป็นผู้ดูแลครอบครัว และสามารถสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้จำนวนมาก แต่เงินเหล่านั้นถูกนำไปจ่ายเป็นสินบน ทำให้เป็นการสร้างภาระให้กับพนักงานบริการและทำให้พนักงานบริการต้องถูกไปอยู่ใต้ดิน กลายเป็นธุรกิจสีเทา
โดยคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบมีข้อเสนอแนะให้ประเทศไทย ต้องทำให้เกิดกลไกการคุ้มครองพนักงานบริการตามกฎหมายแรงงาน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ตั้งเป้าทำงานคุ้มครองสิทธิแรงงานทุกคนรวมถึงคนทำงานทางเพศด้วย เพื่อทำให้ทุกคนได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนั้นสิ่งสำคัญที่สุด หากมีกฎหมายฉบับนี้ จะเห็นการจัดตั้ง การรวมกลุ่มของพนักงานบริการ และกฎหมายฉบับนี้จะเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของพนักงานบริการที่เป็นจริงได้และเราสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ในวันที่ 17 มีนาคม 2566 ณ.โรงแรมเดอะพาลาสโซ กรุงเทพฯ เวลา 13.00 น. – 16.00 น มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์จัดงานพนักงานบริการพบพรรคการเมือง 'คืน-งาน คืน-คน เปลี่ยน-ส่วย เป็น-ภาษี ธุรกิจดี-ไม่สีเทา' เป็นเวทีแลกเปลี่ยนโดยให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคนำเสนอนโยบายเกี่ยวกับงานบริการรวมไปถึงข้อกังวลและให้พนักงานบริการที่มาร่วมได้นำเสนอปัญหาและข้อเสนอที่อยากให้พรรคการเมืองได้รับรู้และแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
คืบหน้า! พ.ร.บ.คุ้มครอง sex worker อยู่ในขั้นฟังเสียง ปชช. ตัวแทนองค์กรหวังให้ผ่าน