ครม.อนุมัติโครงการ ‘โคล้านครอบครัว’ ให้ ‘ธ.ก.ส.’ ปล่อยกู้ให้ ‘กองทุนหมู่บ้านฯ’ ก่อนนำไปปล่อยกู้ต่อให้ สมาชิกฯ ไม่เกิน 5 หมื่นบาท/ครัวเรือน เลี้ยงโค 2 ตัว
..................................
เมื่อวันที่ 14 มี.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการโคล้านครอบครัว วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้สินเชื่อแก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในอัตราดอกเบี้ย 0% เพื่อนำปล่อยกู้แก่สมาชิกฯ ไม่เกินครัวเรือนละ 5 หมื่นบาท 1 แสนครัวเรือน เพื่อเลี้ยงโคครัวเรือนละ 2 ตัว รวม 2 แสนตัว
ทั้งนี้ รัฐบาลจะชดเชยต้นทุนการเงินให้ ธ.ก.ส. ในอัตรา 4% ต่อปี กรอบวงเงินไม่เกิน 600 ล้านบาท และให้กองทุนหมู่บ้านฯชำระคืนเงินกู้ให้ ธ.ก.ส.ให้แล้วเสร็จภายใน 4 ปี
สำหรับเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ นั้น ให้กองทุนหมู่บ้านฯให้สินเชื่อกับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี และให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ชำระคืนเงินต้นให้กองทุนหมู่บ้านฯ ให้แล้วเสร็จ ภายในระยะเวลา 4 ปี โดยในปีที่ 3 ให้ชำระคืนเงินต้น 50% ของวงเงินที่กู้ยืม และชำระคืนเงินต้นที่เหลือในปีที่ 4 ทั้งนี้ กองทุนหมู่บ้านฯสามารถกำหนดค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจากสมาชิกที่กู้ยืมได้ตามที่กำหนด
ขณะที่กองทุนหมู่บ้านฯ ต้องนำหลักฐานการขอสินเชื่อจากสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ เพื่อประกอบการเบิกเงินกู้จาก ธ.ก.ส. โดยกองทุนหมู่บ้านฯ ยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรมสัญญากับสถาบันการเงินให้แล้ว เสร็จภายในระยะเวลา 6 เดือน หรือในกรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท แล้วแต่อย่างใดอย่างหนึ่งถึงกำหนดก่อน
“โครงการโคล้านครอบครัว จะช่วยสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้ครัวเรือนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ลดภาระค่าครองชีพให้กับครัวเรือนและจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก สร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากในระดับหมู่บ้านและชุมชนให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ที่สำคัญคือมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ตามเจตนารมย์ของกองทุนฯด้วย” นายอนุชา กล่าว
นายอนุชา ยังกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ยังมีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส. ) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดยจัดสรรงบเพื่อจ่ายชดเชยให้กับธนาคารทั้ง 4 แห่ง โดยมีกลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย 50,621 ราย ยอดเงินต้นและดอกเบี้ยรวม 15,481 ล้านบาท