เวทีเสวนาเครือข่ายอนุรักษ์พื้นที่อ่าวไทย-อันดามันถกเดือด แต่ละจังหวัดล้วนแต่โชว์ปัญหาพื้นที่ป่าไม้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายรุนแรง ยกตัวอย่าง พื้นที่เกาะสมุย กลุ่มนายทุนสีเทา บุกรุกปลูกทุเรียนบนเขา ขรก.เอี่ยว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 12 มี.ค 2566 ที่ผ่านมา นายจำรูญ เกิดดำ ประธานเครือข่ายอนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน ได้ประชุมเครือข่าย โดยมีนายสุทธิรักษ์ อุตมมนตรี พิธีกรรายการสืบสวนความจริง โทรทัศน์ช่อง 22 ร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
นายจำรูญ กล่าวว่า ได้ต่อสู้เพื่อสวนร่วมและสาธารณะประโยชน์มาตั้งแต่รับราชการครู และตำแหน่งสุดท้ายเป็นครูใหญ่โรงเรียนบ้านควนทอง ต.ควนทอง อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช หลังจากเกษียณอายุราชการแล้วได้ทำงานกับมวลชนและต่อสู้เพื่อความถูกต้องในสังคมโดยเฉพาะประเด็นการรักษาพื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งทะเลไว้ ทั้งพื้นที่จังหวัดทางด้านอ่าวไทย และ เชื่อมต่อเครือข่ายอันดามัน เป็นเครือข่ายเดียวกัน มีความภาคภูมิใจที่สามารถรักษาพื้นที่ป่าและพื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามและมีคุณค่าของประเทศไว้ได้จำนวนมากแต่ต้องยอมรับว่า หลังจากการท่องเที่ยวเติบโตทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ที่ดินถูกทำลายรุนแรงขึ้น
“ในวันนี้รู้สึกดีใจมากที่ได้มีพบกับเพื่อนๆผู้ร่วมอุดมการณ์ การทำงานเพื่อส่วนรวมมีความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้มุ่งมั่น เพื่อการรักษาสมบัติของแผ่นดินไว้ ที่ผ่านมาตนพยายามที่จะออกหน้าต่อสู้แทนเพื่อนพี่น้องที่อนุรักษ์ในพื้นที่ ทั้งนี้เนื่องจากห่วงชีวิตและร่างกายของเพื่อนพี่น้อง เพราะในการสู้เพื่อส่วนรวมสู้เพื่อสาธารณะเป็นการสู้ที่เดียวดายในหลายพื้นที่เพราะส่วนใหญ่บุคคลพวกนี้จะเป็นบุคคลและกลุ่มบุคคลที่มีทั้งอำนาจ มีเงิน มีอิทธิพล ถึงจะสามารถทำลายทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ที่ดินสาธารณะได้ย่อยยับ ผมดีใจที่มีน้องๆรุ่นหลังลุกขึ้นมารวมขบวนการต่อสู้กับพวกเรา ขอให้พวกเราเกาะติดและร่วมกันเป็นเครือข่ายกันเอาไว้ ปัจจุบันการทำงานง่ายขึ้นเพราะสื่อสารกันได้เร็วขึ้น มีกลุ่มไลน์ที่เราจะสื่อสารกันได้มาช่วยกันได้ เป้าหมายเราคืออนุรักษ์พื้นที่ที่ควรอนุรักษ์ไว้เพื่อคนไทยทุกคนเพื่อตัวเราและเพื่อเพื่อนร่วมชาติ” นายจำรูญ กล่าว
นายจำรูญ กล่าวอีกว่า ทุกพื้นที่มีการบุกรุกกันรุนแรง พื้นที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีน้ำตามธรรมชาติน้อยต้องนำน้ำจากฝั่ง อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ข้ามไปใช้ยังฝั่งเกาะสมุย แต่ด้านบนเขาแม่น้ำ ต.แม่น้ำ ปรากฏว่ามีการถางป่าพื้นที่ป่าไม้ธรรมชาติและเป็นแหล่งต้นน้ำของเกาะสมุย เปิดกันแบบเขาหัวโล้น เพื่อปลูกทุเรียน เนื่องจากทุเรียนเกาะสมุยขึ้นชื่อ กลุ่มที่บุกรุกปลูกสวนทุเรียนบนเขาได้ ล้วนแต่เป็นนายทุน เท่าที่ทราบทุนสีเทา ยังปะปนกับภาคส่วนของราชการมีนักจัดการการศึกษาที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งของจ.สุราษฎร์ธานี นอกจากนั้นยังมีนายพลนอกราชการ เนื่องจากทุเรียนปลูกและเติบโตและออกลูกได้ต้องมีน้ำจืดเป็นปัจจัยสำคัญ ฉะนั้นจึงเห็นว่าบนยอดเขามีระบบน้ำมีถังน้ำขนาดใหญ่มีสระน้ำเพื่อไว้ใช้รดต้นทุเรียนในห่วงหน้าแล้งการลุงทุนนำน้ำจากต้นน้ำไปไว้บนที่สูงสุดเพื่อปล่อยมารดทุเรียนจึงต้องมีทุนและเป็นนายทุน
นายประพิศ สุขเหลือง อดีตผู้ใหญ่บ้าน 6 ต.เขาเขน อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ เครือข่ายจ.กระบี่ กล่าวว่าพื้นที่จ.กระบี่ มีการบุกรุกทำลายป่า ครอบครองพื้นที่ป่าที่มีการเปิดให้นายทุนเช่าในอดีต และมีการปลูกปาล์มน้ำมัน ในเวลาต่อมาเมื่ออายุสัมปทานหมดลงแต่รัฐไม่มีความชัดเจนในการแก้ปัญหา หรือ การจัดสรรที่ดินใหม่ ทำให้เกิดการครอบครองพื้นที่ การเช่าต้นปาล์มเดิมคิดเป็นรายต้น จนกระทั้งมีผู้มีอิทธิพล และ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวเข้ามาแสวงประโยชน์จากพื้นที่ป่า จนส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่หลากหลายรูปแบบ ที่สำคัญผู้ไม่มีที่ดิน ไม่มีที่ดินทำกิจในพื้นที่ อ.ปลายพระยา และ อ.อ่าวลึก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ตั้งของพื้นที่ป่าไม้จำนวนมาก กลับได้แต่นั่งดูและได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการไม่จัดการให้จริงจังกับรัฐ และกลายเป็นเงินใต้โต๊ะอันโอชะของผู้มีอำนาจ
ขณะที่นายอรรคพล อรุณโชติ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง เครือข่ายจ.ระนอง กล่าวว่า ข้าราชการที่มีหน้าที่ดูแลทรัพยากรในพื้นที่จ.ระนอง กลับหากินกับพื้นที่ทรัพยากรที่ตัวเองดูแลมาหากิน แต่เมื่อร้องเรียนร้องทุกข์กับหน่วยงานราชการอื่นกลับไม่ใส่ใจที่จะช่วยชาวบ้านที่ช่วยกันอนุรักษ์พื้นที่ตอบหนังสือแบบขอไปที่ เหมือนกับว่าเรื่องของหน่วยงานอื่นไม่เกี่ยวกับหน่วยงานตนทั้งๆที่หน่วยงานที่สืบสวนสอบสวนทั้งหลายควรจะเป็นผู้ช่วยหรือตัวช่วยชาวบ้านที่แจ้งเบาะแส้ พฤติกรรมแบบนี้ถือว่าร่วมกันทุจริตโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ที่ดินสาธารณะเป็นต้นทุนของประเทศแต่กลับนำเอามาให้ ตนเองกลุ่มตนเอง พวกพ้องของตนเองซึ่งถือว่าเป็นการทุจริตที่ร้ายแรง
ขณะที่ตัวแทน จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ตนเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ต้องชื่นชมคนรุ่นเก่าที่ช่วยกันอนุรักษ์ป่าไม้ที่ดินสาธารณะไว้ให้พวกตนได้ใช้ร่วมกันต่อไป แต่จากการที่ตนมีส่วนร่วมในการทวงคืนพื้นที่ ที่กรมป่าไม้อนุญาตให้วิทยาลัยเทคนิคถลางใช้ประโยชน์เพื่อจัดการศึกษา กลับพบพฤติการณ์ของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ที่ปล่อยปละละเลย ไม่เอาใจใส่ที่ดูแลพื้นที่อย่างจริงจัง กลับใช้พื้นที่และทรัพยากรที่ตัวเองดูแลทำมาหากินเพื่อตนเองและครอบครัว มีการเอื้อประโยชน์ให้นายทุน กลุ่มอิทธิพลต่าง ๆ “ลูกชายทำงานเป็นลูกจ้างดูแลป่า พ่อเป็นลูกจ้างประจำกรมป่าไม้ เป็นที่ทราบกันแล้วว่า เดือนละเท่าไร แต่เมื่อดูแลป่าในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต กลับขับรถยนต์ป้ายแดงราคา 1,800,000 บาท ลองคิดเอาเถอะว่าการดูแลป่าไม้ที่ดินของรัฐแบบเอาป่าไปขายให้นายทุนผู้มีอิทธิพล ถือว่าเป็นการเอาทรัพยของชาติของแผ่นดินไปหาประโยชน์เอาเงินเข้าตัวเองและครอบครัวถือว่าเป็นการทุจริตรูปแบบหนึ่งหรือไม่”
รายงานข่าวแจ้งว่า การจัดประชุมกันของเครือข่ายอนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน จึงเป็นการพบกันระหว่างบุคคลที่มีแนวคิดในการรักษ์แผ่นดินเกิดหวังให้สมบัติสาธารณะเป็นสมบัติของแผ่นดินสืบไปต่างก็ให้กำลังซึ่งกันและกันและมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะผนึกกำลังเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมและไม่ทนต่อพฤติกรรมของข้าราชการทุจริตอีกต่อไป