คณะรัฐมนตรี อนุมัติเงิน 3,191 ล้านบาท ให้ กฟน. และ กฟภ. อุดหนุนส่วนลดค่าไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้ไฟบ้านไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน พร้อมไฟเขียวต่ออายุเก็บภาษี 'น้ำมันผลิตไฟฟ้า' 0% อีก 6 เดือน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 มีนาคม 2566 อนุมัติวงเงิน 3,191,740,000 ล้านบาท ให้การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคม-เมษายน 2566 เพื่อให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยเป็นกรอบวงเงินของการไฟฟ้านครหลวงจำนวน 517,950,000 บาท และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำนวน 2,673,790,000 บาท เพื่อบรรเทาผลกระทบในการลดภาระค่าครองชีพให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นกลุ่มเปราะบาง
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้น โดยช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง ประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทาน กองทัพเรือ เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคมถึงเมษายน 2566 โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตรา 0% สำหรับน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ออกไปอีก 6 เดือน หรือตั้งแต่ 16 มี.ค.-15 ก.ย.2566 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจในช่วงที่เศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัว และราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังคงผันผวน
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุว่า การดำเนินมาตรการภาษีในครั้งนี้ แม้จะส่งผลให้กรมสรรพสามิตสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันประมาณ 8,050 ล้านบาท โดยสูญเสียจากน้ำมันดีเซล (บี0) ประมาณ 7,920 ล้านบาท และจากน้ำมันเตาประมาณ 130 ล้านบาท ก็ตาม แต่กรมสรรพสามิตให้ความสำคัญต่อการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนและภาคธุรกิจ
“การดำเนินมาตรการภาษีในครั้งนี้ ไม่กระทบต่อเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิต เนื่องจากรายได้ที่สูญเสียดังกล่าวไม่ได้ถูกนำไปรวมในเป้าหมายตั้งแต่ต้น” นายเอกนิติ กล่าว
นายเอกนิติ ระบุด้วยว่า จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่ยุติ ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ยังคงมีแนวโน้มผันผวน รวมถึงสถานการณ
เศรษฐกิจในประเทศที่เพิ่งฟื้นตัวหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการทางภาษีสำหรับน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาในการผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อควบคุมไม่ให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อประชาชน