‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ ดูงานกระท่อม ชี้หากได้มาตรฐาน GMP ช่วยส่งออกมหาศาล เผยชาวบ้านขอเร่งพัฒนาวิจัยผลิตภัณฑ์ ขณะที่ อย. ยังไม่ให้มาตรฐานสารไมทราไจนิน สารเสพติดในกระท่อม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 4 มีนาคม 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้หารือร่วมกับนายสงคราม บัวทอง อดีตกำนัน ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ผู้ริเริ่มการอนุรักษ์พืชกระท่อม
โดยนายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า นายสงคราม ได้มาพบเพื่อพูดคุยหารือ เนื่องจากเป็นห่วงว่าพืชกระท่อมภาคใต้ ยังไม่พอขาย และกระท่อมป่ากับกระท่อมปลูก มีปัญหาศัตรูพืชที่ต่างกัน รวมถึงสารไมทราไจนีน ที่มากน้อยต่างกันอีกด้วย จึงอยากให้ภาครัฐเร่งพัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์ เพราะขณะนี้มีความต้องการในตลาดเยอะ โดยปัจจุบันราคาส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 80-100 บาท และขณะนี้ประเทศอินเดีย ได้เข้ามาศึกษาดูงานการตั้งโรงงานกระท่อมอบแห้งเพื่อส่งไปแปรรูปที่ประเทศตัวเอง ซึ่งในระยะยาวอาจเกิดปัญหาเรื่องการส่งออกที่เราอาจจะเสียเปรียบได้ เพราะในอนาคตกระท่อมจะพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ โดยมีหลายบริษัทกำลังศึกษาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
@เล็งดูแลผลผลิตกระท่อม ต้น-กลาง-ปลายน้ำ
จากนั้นนายสมศักดิ์ และคณะ ได้เดินทางไปยังนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ อ.บางกล่ำ จ.สงขลา เพื่อตรวจเยี่ยมและศึกษาดูงานโรงงานผลิตสารสกัดกระท่อมมาตรฐาน GMP สำนักงานวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งโรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานแรกที่ได้มาตรฐาน อย. ในการสกัดสารจากพืชกระท่อม และจะเป็นต้นแบบของภาคใต้ โดยมีมหาวิทยาลัย ดูแลมาตรฐาน SOP และมีห้องแล็ปที่ผ่านมาตรฐาน ISO 17025
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าเราพัฒนาให้มีมาตรฐาน GMP จะส่งออกได้มหาศาล ที่สำคัญคือการตรวจวิเคราะห์สารปนเปื้อน เราต้องทำโรงงานอบใบแห้งกระจายไปทุกจังหวัด เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ โดยจากการรับฟังข้อมูลการบรรยายทราบว่า ขณะนี้ทางฝ่ายวิจัยมีการปลูกไว้ 9 สายพันธุ์ และให้คณะแพทย์ศาสตร์ คณะเภสัชกรรม และคณะแพทย์แผนไทย ทดลองวิจัยว่าผลลัพธ์เป็นอย่างไร จากนั้นนำมาสกัด แปรรูปเพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นโมเดลการพัฒนาสมุนไพรอย่างยั่งยืนอีกด้วย เพราะต้องมีการพัฒนาตั้งแต่ ต้นน้ำ คือกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูก ระบบการขนส่ง กลางน้ำ คือโรงงานที่อบแห้งและสกัดสารทำผลิตภัณฑ์ และปลายน้ำ คือ การส่งออกไปตลาดต่างประเทศ โดยมาตรฐานส่งออกต้องเข้มงวด ต้องประสานงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ดี ซึ่งตรงนี้ต้องมีการบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
@ยังไม่อนุมัติมาตรฐานกลางสารไมตราจีนีนในกระท่อม
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรฐานกลาง สารไมตราจีนีนในผลิตภัณฑ์ ที่ อย. ยังไม่อนุมัติ ขณะนี้ทาง ป.ป.ส. กำลังทดลองกับหนู ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญ หากเราทำได้ดีจะยกระดับเกษตรกรในประเทศไทยได้ นอกจากนี้ทางสถาบันวิจัย ยังได้มีการทำแอฟพลิเคชั่น เก็บข้อมูล เพื่อนำไปลงทะเบียนพืชกระท่อม ซึ่งตอนแรกจะนำมาใช้ในโรงงาน แต่เห็นว่ามีประโยชน์ จึงมอบให้ ปปส. ไปใช้งานต่อ โดยสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ แต่ละพื้นที่ได้ เช่น โรค สารปนเปื้อน ตรวจน้ำ ดิน อากาศ ซึ่งมีการเชื่อมโยงกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ซึ่งจะเป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับต่างประเทศได้ โดยทาง ป.ป.ส. สามารถดูข้อมูลหลังบ้านเกี่ยวกับข้อมูลกระท่อมทั่วประเทศได้ และจะเป็นตัวต้นแบบ นำไปใช้กับสมุนไพรต่างๆได้
"ตอนนี้เราต้องเร่งพัฒนามาตรฐานของพืชกระท่อม เพราะขณะนี้ต่างประเทศ เช่น อินเดีย มีการขยับเข้ามาในไทยเพื่อทำสารสกัดส่งออก หากเราไม่รีบทำ จะเสียโอกาสทางการค้า ประเทศไทยมีของดีอย่างพืชกระท่อม ที่มีสรรพคุณทางยามากมาย ไม่ควรปล่อยให้ต่างชาติมาเอาของเราไป ดังนั้นต้องรีบทำ รีบวิจัย เพื่อให้เกษตรกรไทยได้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรท้องถิ่นของเรา" นายสมศักดิ์ กล่าว
จากนั้น นายสมศักดิ์ เดินทางต่อไปยังโรงแรม หรรษา เจบี หาดใหญ่ เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด รองรับประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยมี นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พล.ต.ต.นิตินัย หลังยาหน่าย รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 นายวรเดช สุขขวัญ รองประธานเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดิน จ.สงขลา และประชาชนให้การต้อนรับ โดยนายสมศักดิ์ ได้บรรยายถึงประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ ที่เน้นการยึดทรัพย์ตัดวงจรเครือข่ายยาเสพติด และมีรางวัลนำจับสำหรับเจ้าหน้าที่ 25% ของมูลค่าทรัพย์สินที่ยึดได้ และรางวัลการแจ้งเบาะแสของประชาชน 5% และเชิญชวนทุกคนมาร่วมเรียนรู้ประมวลกฎหมาย เพื่อให้การแก้ปัญหายาเสพติดเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด