ครม.อนุมัติเปลี่ยนแปลงรายการงบรถไฟฟ้าสายสีม่วง โยกงบเวนคืน 1.3 พันล้านในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ไปใส่ในงบก่อสร้างสิ่งทดแทนของ 4 หน่วยงานใน ทบ. ทำให้งบก่อสร้างสิ่งทดแทนเพิ่มจาก 1,335 ล้านบาท เป็น 2,658 ล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติทบทวนมติ ครม. วันที่ 25 ก.ค. 60 เกี่ยวกับการอนุมัติให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาโครงการถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ(วงแหวนกาญจนาภิเษก) ตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ
@โยกงบเวนคืน ลงงบก่อสร้างทดแทน 4 หน่วยของกองทัพ 1.3 พันล้านบ.
สำหรับการทบทวนมติ ครม.ฯ ครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินรายการดำเนินงานตามโครงการฯ แต่ยังคงอยู่ภายใต้กรอบงบประมาณเดิมที่ ครม. ได้อนุมัติไว้ที่ 101,112 ล้านบาท โดยรายการที่มีการเปลี่ยนแปลง ได้แก่การปรับลดวงเงินรายการค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 1,323 ล้านบาท(รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จากเดิม 15,913 ล้านบาท เป็น 14,590 ล้านบาท เพื่อนำไปปรับเพิ่มเป็นรายการค่าก่อสร้างทดแทนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างที่เพิ่มจาก 1,335 ล้านบาท เป็น 2,658 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,323 ล้านบาท
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การปรับเพิ่มค่าสิ่งปลูกสร้างทดแทนฯ ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงการก่อสร้างของสัญญาที่1 (จากทั้งโครงการมีทั้งหมด 6 สัญญา) ที่เดิมขอบเขตงานได้ให้ผู้รับจ้างงานโยธาต้องดำเนินการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างทดแทนของหน่วยงานของกองทัพบก(ทบ.) และหน่วยงานอื่นๆ วงเงิน 1,069 ล้านบาท (ส่วนของ ทบ. 1,028 ล้านบาท และหน่วยงานอื่นๆ 41 ล้านบาท) โดยพื้นที่ของ ทบ. ได้รับผลกระทบจากโครงการประกอบด้วย กรมสรรพาวุธทหารบก, กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน, กรมทหารม้าที่1 รักษาพระองค์ และ กองพันทหารม้าที่4 กองพลที่1 รักษาพระองค์
โดย ทบ. แจ้งว่างบประมาณที่ได้รับไม่เพียงพอต่อการดำเนินการย้ายที่ตั้งของหน่วย เนื่องจากอาคารบริเวณที่ตั้งเดิมของโรงเรียนสรรพวุธทหารบกมีการใช้ อาคาร/สิ่งปลูกสร้างและระบบสาธารณูปโภคร่วมกับหน่วยงานที่อยู่บริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเมื่อต้องย้ายหน่วยไปอยู่พื้นที่ใหม่(ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง นครราชสีมา) จะต้องย้ายกำลังพลและครอบครัวไปอยู่พื้นที่แห่งใหม่ทั้งหมด ทบ.จึงยืนยันข้อเสนอรายการก่อสร้างอาหารและสิ่งปลูกสร้างฯ วงเงินรวม 2,350.05 ล้านบาท แยกเป็นราการก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างฯ ที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. เดิม 1,027.62 ล้านบาท และรายการก่อสร้างฯ (เพิ่มเติม) 1,322.43 ล้านบาท
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ภายหลังเปลี่ยนแปลงรายการดำเนินงานตามโครงการฯ แล้ว กรอบวงเงินเพื่อดำเนินการตามโครงการฯ จะมีดังนี้ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 14,590 ล้านบาท ค่าสำรวจอสังหาฯ 32 ล้านบาท(คงเดิม) ค่าก่อสร้างงานโยธา 77,385 ล้านบาท(คงเดิม) ค่าสิ่งปลูกสร้างทดแทนฯ 2,658 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและคุมงานก่อสร้าง 2,865 ล้านบาท(คงเดิม) ค่า Provisional Sum 3,582 ล้านบาท(คงเดิม) รวมทั้งสิ้น 101,112 ล้านบาท
สำหรับรายละเอียดการก่อสร้างงานโยธาของโครงการฯ ประกอบด้วย 6 สัญญา โดยสัญญาที่1-4 เป็นงานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน แยกเป็น สัญญาที่1 ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ, สัญญาที่2 ช่วงหอสมุดแห่งชาติ-ผ่านฟ้า, สัญญาที่3 ช่วงผ่านฟ้า-สะพานพุทธ และสัญญาที่4 ช่วงสะพานพุทธ-ดาวคะนอง ส่วนสัญญาที่5 เป็นงานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ดาวคะนอง-ครุใน และสัญญาที่6 งานออกแบบและก่อสร้างระบบราง ตลอดแนวเส้นทางโครงการฯ
ที่มาภาพ: บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)