ยูนิเซฟประเทศไทยจัดเวทีเสวนาออนไลน์นานาชาติ 'การมีส่วนร่วมของเยาวชนในการปกครองส่วนท้องถิ่น' ตัวแทนประเทศไทยเห็นตรงกัน เด็กต้องมีส่วนร่วมในสังคม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และสถานทูตฟินแลนด์ ประจำประเทศไทย ร่วมกันจัดเวทีเสวนาออนไลน์ระดับนานาชาติ เรื่อง การมีส่วนร่วมของเยาวชนในการปกครองส่วนท้องถิ่น (Youth Participation in Local Governance: International Knowledge Exchange Forum) โดยมีตัวแทนเยาวชนและผู้บริหารภาครัฐเข้าร่วมการเสวนา
ตัวแทนจากแต่ละประเทศกล่าวถึงการมีส่วนร่วมของเยาวชนในประเทศของตนเอง โดยตัวแทนจากประเทศไทยกล่าวถึงประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
นายธนวัฒน์ พรหมโชติ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นกฎหมายคุ้มครองเด็กของประเทศไทยที่มีมิติหลากหลายโดยเฉพาะด้านพัฒนาเด็ก ที่มีพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติที่มีทั้งโอกาสและอุปสรรค โอกาส คือ การมีสภาเด็กตามพ.ร.บ.ข้างต้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย อุปสรรค คือ ขาดบุคคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในตัวเด็ก ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน
“การมีองค์กรพัฒนาเด็กและเยาวชนในทุกตำบล ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย 8,000 กว่าแห่ง ถือว่าเป็นอีกหน่วยที่สามารถเป็นปากเป็นเสียงหรือรวบรวมความคิดของเด็กและเยาวชนมาสู่นโยบายในระดับชาติ”
นายจตุพล ยะวา อดีตประธานสภาเด็กและเยาวชน, ที่ปรึกษาสภาเด็กและเยาวชนตำบลป่าพลู จังหวัดลำพูน และกรรมการที่ปรึกษาเยาวชนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นการทำงานในพื้นที่ท้องถิ่นที่ให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ประเด็นการทำ MOU กับโรงเรียนในพื้นที่เพื่อให้เด็กมีส่วนร่วมมากขึ้น
“แนวคิดหลักของสภาเด็ก คือ เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน นี่เป็นแนวคิดหลัก ๆ ที่เราทำ การวางแผนทุกอย่างจะให้เด็กเป็นผู้เริ่มต้น เริ่มคิด ลงมือทำ ทุกกระบวนการจะให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม ที่สำคัญผู้ใหญ่จะอยู่ในทุกกระบวนการ”
นายอนุพงษ์ จันทะแจ่ม Creative Changemaker Manager มูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม (SIY) กล่าวถึงประเด็นการทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมส่งเสริมการปกท้องส่วนท้องถิ่น (สถ.) ประเด็นความสำคัญของระบบหรือกลไกการส่งเริมการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน
“เราเชื่อว่าการมีส่วนร่วมทางสังคมต้องมีเนื้อดินที่ดี ที่จะเพาะปลูกตามบริบทของพื้นที่ให้เกิดระบบที่สนับสนุนเยาวชนได้”
นางสาววรรธน์วรี ไชยมงคล กรรมการที่ปรึกษาเยาวชนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นความจำเป็นของการสื่อสารระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ที่ทำงานร่วมกัน จะต้องมีการสื่อสารที่เข้าใจชัดเจน ประเด็นการเปิดโอกาสให้เด็กที่ไม่เคยมีส่วนร่วมเข้ามามีส่วนร่วมในท้องถิ่น
“ปัญหาไหนเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยในเรื่องการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน คิดว่ายังมีเยาวชนไทยอีกจำนวนมากที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับสังคม อาจเป็นเพราะเขาอาจไม่รู้ว่าเขาจะเข้าร่วมที่ไหน ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง”
นางสาวอรนุชา มงคลรัตนชาติ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการพัฒนาและสวัสดิการเด็ก เยาวชนและครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงประเด็นสภาเด็กและเยาวชนเกิดจากการฟังเสียงของเด็กและเยาวชน ประเด็นการทำงานร่วมกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ที่เป็นความท้าทายในรูปแบบหนึ่ง ประเด็นการพยายามให้เด็กชายขอบมีส่วนร่วมกับการปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น
“ในกิจกรรมของกรมดย. เวลาที่เราทำกิจกรรมเราก็จะคุยกับน้อง ๆ ให้น้อง ๆ เข้ามาร่วมดีไซน์ แล้วเราก็พยายามจะกระจาย กระจายไปยังน้อง ๆ ชายขอบ น้อง ๆ ที่ไร้สถานะ ให้เข้ามามีส่วนร่วมกับเรามากขึ้น นี่เป็นสิ่งที่เราทำ”
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงประเด็นปัญหาช่องว่างระหว่างวัยที่เป็นปัญหาที่สำคัญ ประเด็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบการทำงานให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครอง ประเด็นการออกแบบการมีส่วนร่วมให้มีเครื่องมือการมีส่วนร่วมมากขึ้น
“ปัญหาโครงสร้างใหญ่ คือ generation gap หรือความไม่เข้าใจในสังคมไทย หรือทั้งโลก เพราะว่าโลกในยุคก่อนกับยุคเราไม่เหมือนกันจริง ๆ โลกต่างกันมาก ต่างกันจนไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ใหญ่ เพราะว่าในเรื่องเทคโนโลยีเด็ก คือ ผู้ใหญ่ แต่ว่าผู้ใหญ่เป็นเด็กในเรื่องเทคโนโลยี”