ฝ่ายค้านเพื่อไทย - ก้าวไกล ตั้งญัตติด่วนขอแก้ปัญหา ‘ตะวัน-แบม’ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองอดอาหารประท้วงสิทธิประกันตัว - ยกเลิกม.112 และ 116 ‘ชลน่าน’ ขอสภาเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพูดคุย ด้าน ‘พิธา’ เปิดบันได 3 ขั้นแก้ปัญหา เน้นย้ำ คืนสิทธิประกันตัว - นิรโทษกรรมคดี ม.112-116 - แก้กม.สิทธิเสรีภาพ ด้าน ‘สมศักดิ์’ รับปากจะแก้ไขเรื่องการประกันตัวให้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม
ภายหลังจากสมาชิกหารือปัญหาเรื่องต่างๆ แล้ว นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า กรณี น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงศ์ หรือแบม ผู้ต้องคดีมาตรา 112 ที่อดอาหารประท้วงนั้น หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้จะเกิดอันตราย และส่งผลต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ฝ่ายค้านจึงมีความเห็นร่วมกัน อาศัยข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อที่ 54 (5)ให้นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่องสิทธิประกันตัว และการใช้กฎหมายล้มเกินแก่ผู้แสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพื่อให้ที่ประชุมได้พิจารณาเสนอเป็นเรื่องด่วน
หลังจากมีการเสนอญัตติดังกล่าว เนื่องจากญัตติด่วนดังกล่าวเป็นการแทรกการพิจารณาร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ... ที่รออยู่ ทำให้ส.ส.พรรคภูมิใจไทย คัดค้าน และขอให้เลื่อนเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาเรื่องนี้เป็นวันที่ 2 ก.พ. แทน แต่ส.ส.ฝ่ายค้านยืนยันจะต้องเสนอวันนี้ เพราะเป็นความปลอดภัยของเยาวชน
กระทั่งนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคไม่ติดใจแล้ว แต่ขอให้ฝ่ายค้านอยู่เป็นองค์ประชุมในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ด้วย โดยขอให้ถือเป็นสัจจะลูกผู้ชาย ซึ่งนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะวิปฝ่ายค้าน รับปากจะอยู่เป็นองค์ประชุมให้ถึงช่วงเย็นวันนี้
@เพื่อไทย ขอปล่อยตัว ‘ตะวัน - แบม’
จากนั้น นพ.ชลน่าน กล่าวเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาว่า ขอให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทางการเมือง น.ส.ทานตะวัน และน.ส.อรวรรณ ที่กำลังอดอาหารประท้วง เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา112 และการปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน แม้เด็ก 2คนได้สิทธิประกัน แต่ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดสิทธิเสรีภาพาเกินขอบเขต เช่น ติดกำไลอีเอ็ม ควบคุมพื้นที่ตลอด24 ชั่วโมง เป็นเรื่องรับไม่ได้
“นี่คือคนไม่ใช่สัตว์ เป็นการจำกัดสิทธิเกินเหตุ ขอให้ผู้มีอำนาจทั้งคณะผู้พิพากษา ศาลใช้ดุลยพินิจพิจารณาให้ดี การให้ประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองต้องมีเงื่อนไขเหมาะสม มีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ และขอให้พรรคการเมืองประกาศนโยบายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน โดยเฉพาะคดีการเมือง การยกเลิกมาตรา112 ทุกพรรคควรพิจารณาจะตอบสนองข้อเรียกร้องได้อย่างไร หลายมาตราเป็นเครื่องมือกำจัดผู้เห็นต่างทางการเมือง เช่น แค่มีขันแดงในมือก็เป็นภัยความมั่นคง บางคนอาศัยกฎหมายเหล่านี้เป็นเครื่องมือทำลายคู่แข่งทางการเมือง มาตรา112 เป็นกฎหมายอาญา แต่ถือเป็นกฎหมายความมั่นคง ถ้าเอามาใช้ไม่ถูกทาง ปัจจุบันนำมาใช้ล้นเกิน ขาดหลักนิติธรรม จนเกิดผลกระทบต่อประชาชนและสถาบัน ปากบอกจงรักภักดี แต่การกระทำไม่ใช่ ขอให้สภาช่วยหามาตรการแก้ไขด้วย” นพ.ชลน่านระบุ
@ขอสภาฯ เป็นที่พูดคุย
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า พรรคเพื่อไทยเห็นว่าเรื่องนี้ละเอียดอ่อน มีความเห็นต่างสุดขั้ว ลักษณะเช่นนี้จะสร้างความแตกแยกในสังคม ดังนั้นสภาควรเป็นเวทีพูดคุย หาจุดร่วมในสังคม คาดการณ์จะยุบสภาวันที่ 15มี.ค. แต่เกรงว่าจะไม่มีการเลือกตั้ง ถ้าปล่อยให้เหตุการณ์นี้บานปลาย หรืออาจมีใครต้องการให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น และชักใยอยู่ โดยไม่ยอมทำอะไรเลย ถือว่าอำมหิตมาก เอาชีวิตเด็กมาแลกกับการสืบทอดอำนาจต่อไป เพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้ง ถ้าข้อกล่าวหานี้เกิดขึ้นจริงต้องไปสืบเสาะให้ได้ว่า เป็นใคร สมควรอยู่ในประเทศนี้หรือไม่ เพียงต้องการสืบทอดอำนาจ ก็เอาชีวิตมนุษย์ไปแลกกับความต้องการของตัวเอง หวังว่าจะไม่เกิดขึ้น อยากให้นำข้อเสนอเหล่านี้ส่งให้ครม. และรัฐบาลนำไปดำเนินการแก้ไขด้วย ฝากกรมราชทัณฑ์การที่เด็ก2 คน ขอเรียกร้องไปรักษาในโรงพยาบาลที่มีความมั่นใจ แสดงว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่สามารถสร้างหลักประกันที่เป็นความมั่นใจในความปลอดภัยให้เด็กทั้ง 2คน
@ก้าวไกล เสนอ 3 ประเด็น
ขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคมี 3 ประเด็นที่ขอเสนอ ประเด็นที่ 1 ขอโน้มน้าวให้ทุกคนเห็นว่าเรื่องที่คุณตะวันและคุณแบมทำอยู่นั้น เป็นเรื่องของเราทุกคน ห่างจากที่นี่ 37 กิโลเมตร ประชาชน 2 คน ตัดสินใจใช้ร่างกายของตัวเองในการต่อสู้เรียกร้องในสิ่งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุด ที่รัฐควรให้กับประชาชน นั่นคือการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม ที่อิสระ ที่เที่ยงตรง และที่ผู้คนเชื่อถือเป็นที่พักพึง
“ผมเป็นนายประกันของคุณตะวันด้วยความภาคภูมิใจ มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมเขา ได้พูดคุยและสอบถามอาการ รู้สึกได้ว่าอาการของทั้ง 2 นั้นนับถอยหลังกันเป็นชั่วโมง แน่นอนว่าผมเป็นคนหนึ่งที่เป็นห่วงผลกระทบต่อร่างกาย แต่สำหรับนักสู้ทางการเมืองสองคนนั้น สุขภาพหรือความอิดโรยของเขาไม่ใช่เรื่องหลักที่เขาเป็นห่วงแม้แต่น้อย สิ่งที่เขาเป็นห่วงคือ ระบบยุติธรรมของประเทศนี้ สิทธิในการประกันตัวของทุกมาตราในระบบกฎหมายอาญาที่มีอยู่ และเป็นห่วงเพื่อนของเขาทั้ง 15 คนที่ควรได้รับสิทธิประกันตัวอย่างไม่มีเงื่อนไข” นายพิธากล่าว
นายพิธากล่าวว่า ประเด็นที่ 2 คือสมดุลของ 3 เสาหลักในการแก้ปัญหาของประเทศไทย ตนอภิปรายครั้งแล้วครั้งเล่าว่าในทุกสังคมต้องมีการเปลี่ยนแปลง ความรู้สึกของยุคสมัยจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ อาจมีความเห็นต่างบางอย่างที่เราสบายใจหรือไม่สบายใจ อาจเป็นความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนใจที่เราไม่อยากรับฟังและทนไม่ได้ แต่เราจะทำอย่างไรได้นอกจากรับฟังเขาและหาฉันทามติร่วมกัน แต่ความเป็นจริง แทนที่เราจะรับฟัง กลับเลือกกดปราบผู้เห็นต่าง
ในฐานะผู้แทนราษฎร อันเป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตยที่เป็นตัวแทนใช้อำนาจของประชาชน จึงไม่อาจเพิกเฉยได้ เมื่อรัฐบาลถูกประชาชนตั้งข้อสงสัยว่ากำลังใช้อำนาจโดยมิชอบ บิดเบือนกฎหมายมาปราบปรามผู้ที่เห็นต่าง ไม่อาจเพิกเฉยได้ ที่ตุลาการถูกตั้งคำถามว่ามีบรรทัดฐานที่แตกต่างจากปกติหรือไม่ในการดำเนินคดีและให้สิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องหาคดีการเมือง ทั้งที่หลักกฎหมายสากลระบุไว้ว่า ผู้ต้องหาในคดีอาญาทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ตราชั่งที่เอียง จะพาประเทศพังพินาศ และแม้ตราชั่งคิดว่าตนเที่ยงตรง แต่ประชาชนต่างสงสัยว่ามันเอียง ก็สามารถพาประเทศพินาศได้เช่นกัน
@ชงบันได 3 ชั้น ‘คืนสิทธิประกันตัว-นิรโทษกรรม-แก้กม.’
และประเด็นที่สาม การหาทางออกของประเทศผ่านบันได 3 ขั้น ขั้นที่หนึ่ง คืนสิทธิประกันตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ชุมนุมควรได้ตั้งแต่แรก ให้กับผู้ต้องหาจำเลยทั้ง 15 คน โดยไม่มีเงื่อนไข ขั้นที่สอง คือการนิรโทษกรรมคนที่เห็นต่างทางการเมือง นักโทษคดีการเมืองตั้งแต่ปี 2557ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 112 หรือมาตรา 116 เพราะที่ผ่านมา กระบวนการในประเทศไทย มีความกลับหัวกลับหาง ประเทศอื่นจะตามหาความจริง แล้วค่อยหาผู้รับผิดรับชอบ แล้วจึงค่อยปรองดอง แต่ประเทศไทยกลับกัน เอาปรองดองไปขึ้นหิ้งก่อน ไม่ต้องมีผู้รับผิดรับผิดชอบ การตามหาความจริงก็ไม่เกิดขึ้น กระบวนการนิรโทษกรรมและการปรองดองในประเทศไทยถึงวนอยู่ในอ่างอยู่แบบนี้ ทำให้ประเทศไทยไปต่อไม่ได้ เราไม่สามารถมีสมาธิแก้ปัญหาอย่างอื่น หากยังมีปัญหาการเมืองอยู่อย่างนี้
และบันไดขั้นสุดท้ายคือการป้องกันไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในอนาคตอีก ด้วยการเอากฎหมายที่มีปัญหาไม่ว่าจะเป็นมาตรา 112 มาตรา 116 พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ หรือกฎหมายฟ้องปิดปาก นี่คือข้อเสนอของพรรคก้าวไกลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาในสภา
“เชื่อว่าถ้าเราทำตามบันได 3 ขั้นนี้ ระยะสั้น กลาง ยาว น้องทั้งสองคนมีโอกาสที่จะมีชีวิตต่อไป และฉลองชัยชนะของประชาชนไปด้วยกัน” นายพิธากล่าว
สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม แฟ้มภาพจาก Facebook กระทรวงยุติธรรม
@ยุติธรรม พร้อมช่วยเหลือด้านการประกันตัว
ต่อมา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2566 ไปเยี่ยมตะวันและแบมน้ำหนักตัวลดไป 10 กิโลกรัม หรือประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทางกระทรวงได้พยายามแก้ปัญหานี้ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. โดยส่งเข้ารพ.ธรรมศาสตร์
ล่าสุด วันนี้(1 ก.พ.) ได้พูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรรมการสิทธิมนุษยชน(กสม.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นต้น โดยมีข้อสรุปเบื้องต้น 4 ประเด็น หนึ่ง กระทรวงพร้อมเจรจาดำเนินการปฏิรูปประเด็นปล่อยตัวชั่วคราว ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมากยิ่งขึ้น โดยในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าในคดีอาญาให้สันนิษฐานผู้ต้องหา หรือจำเลยไม่มีความผิดก่อนคำพิพากษา การจับกุมคุมขังกระทำเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้หลบหนีเท่านั้น สอง พร้อมทบทวนระเบียบปฏิบัติต่อผู้ต้องขังคดีความเห็นต่างทางการเมือง ที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัวชั่วคราวให้สามารถกุมขังในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำได้ รวมถึงคุมขังที่บ้าน เพื่อไม่ให้มีการปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความเห็นต่างเสมือนว่าเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว สาม พร้อมสนับสนุนหลักประกันปล่อยตัวชั่วคราว ผ่านกลไกลกองทุนยุติธรรม และสี่ กสม.จัดทำข้อเสนอแนะปรับปรุงแก้ไขกฎหมายไปยังครม. และรัฐสภา
“ผมรู้สึกสงสารทั้งสองคน อดอาหารจริงๆ ไม่เหมือนในอดีตที่แอบรับทานตอนกลางคืนบ้าง ผมได้เห็นถึงความตั้งใจและเอาจริงเอาจัง อย่างไรก็ดี วันนี้ทางกรมราชภัณฑ์ยังได้ส่งตัว สิทธิโชค เศรษฐเศวต ไปรพ.เดียวกันกับแบมและตะวัน เนื่องจากเริ่มอดอาหารประท้วงแต่ยังดื่มน้ำตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. ด้วย” รมว.ยุติธรรม กล่าว