‘สภาผู้บริโภค’ เปิดผลวิจัยปัญหาการใช้สิทธิ์รักษาฉุกเฉิน (UCEP) พบปัญหา 3 ประเด็น ‘ถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากการประเมินไม่ใช่เคสฉุกเฉิน - มีภาระค่าใช้จ่ายหลัง 72 ชม.- สิทธิใช้ได้เฉพาะผู้ประเมินในเขตสีแดง’ ชี้ UCEP ทำให้ รพ.เอกชนกำไรเฉลี่ย 30% ก่อนแนะควรคุมค่าใช้จ่าย -พัฒนาระบบข้อมูล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 31 มกราคม 2566 สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเวทีเปิดเผยข้อมูลงานวิจัย “การผลักดันนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสิทธิ “ยูเซป” ขึ้น เพื่อเสนอผลการวิจัยและข้อเสนอแนะต่อนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ในเรื่องสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ หรือ ยูเซป (UCEP) และหารือแนวทางออกแบบนโยบาย UCEP ให้ครอบคลุมผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างทั่วถึง และทันท่วงที โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามเจตนารมณ์ของโครงการ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” ในปัจจุบัน
รพ.เอกชนเข้า UCEP กำไรเฉลี่ย 30%
นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญ ด้านบริการสุขภาพ กล่าวว่า งานศึกษาเรื่อง ‘กลไกการจ่ายและการควบคุมอัตราการเบิกจ่ายค่าบริการกรณีการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ และผู้ป่วยฉุกเฉินหลังพ้น 72 ชั่วโมง’ พบว่า โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานครและจังหวัดขนาดใหญ่ เป็นตัวเลือกสำคัญของผู้บริโภคในการใช้บริการเมื่อเกิดความจำเป็น เนื่องจากโรงพยาบาลรัฐไม่เพียงพอ
และแม้โรงพยาบาลเอกชนจะเข้าร่วมนโยบาย UCEP ยังคงมีอัตราการทำกำไรขั้นต้นของโรงพยาบาลต่ำสุดร้อยละ 7 สูงสุดร้อยละ 50 และมีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 30.06 จึงมีเหตุผลเพียงพอที่เชื่อได้ว่าอัตราค่าบริการที่ประกาศใช้ในกรณี UCEP จะช่วยให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถให้บริการได้โดยไม่ขาดทุน และกลไกการจ่ายและการควบคุมอัตราการเบิกจ่ายค่าบริการกรณีการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและผู้ป่วยหลังพ้นวิกฤต 72 ชั่วโมง ในโรงพยาบาลเอกชนมีความจำเป็น
นอกจากนี้ งานศึกษายังชี้ให้เห็นว่าโรงพยาบาลเอกชนที่มีต้นทุนเฉลี่ยในการดูแลรักษาผู้ป่วย เช่น ค่ายา หรือ ค่ารักษาพยาบาล มากกว่าโรงพยาบาลรัฐถึง 5 เท่า ขณะที่ในความเป็นจริงราคาต้นทุนการจัดซื้อยาระหว่างโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐไม่มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ความเชื่อที่ว่าโรงพยาบาลเอกชนจัดซื้อยาได้แพงกว่าโรงพยาบาลของรัฐจึงไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง
นพ. ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย
2 ข้อเสนอแนะ UCEP
จากสถานการณ์การที่ผู้บริโภคที่เข้ามาใช้สิทธิ UCEP ในโรงพยาบาลเอกชนแล้วถูกเรียกเก็บเงินนั้น จึงนำมาสู่ข้อเสนอของงานวิจัยในสองประเด็น ประเด็นแรกคือข้อเสนอแนะต่อระบบการควบคุมค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน ประเด็นที่สองคือข้อเสนอแนะด้านระบบข้อมูลการควบคุมและการกำหนดราคาการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน
โดยในประเด็นแรกที่เป็นการเสนอเกี่ยวกับระบบการควบคุมค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนนั้น ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการควบคุมและการกำหนดราคาเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน ที่เป็นกลไกซึ่งมีความจำเป็นเพราะสามารถช่วยเหลือให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้ โดยเฉพาะในกรณีที่รัฐไม่สามารถจัดให้มีโรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอ
และตามกลไกในการควบคุมนี้ ได้แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ หนึ่ง การควบคุมราคาการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล โดยประกาศ อัตราค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชน แยกตามรายการค่าบริการ โดยกำหนดราคาโดยใช้หลักการเดียวกับการกำหนดค่าบริการกรณี UCEP และสอง การควบคุมราคาการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล โดยกำหนดราคาเหมาจ่ายรายกลุ่มโรค (DRG)
ส่วนข้อเสนอแนะด้านระบบข้อมูลการควบคุมและการกำหนดราคาการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน มี 3 ข้อ ได้แก่ 1) พัฒนาระบบคลังข้อมูลทางบัญชีที่สำคัญสำหรับกิจการบริการประเภทโรงพยาบาล โดยการแสดงรายละเอียดงบการเงินของธุรกิจประเภทโรงพยาบาล ทุกรายการที่ปรากฏในงบกำไรขาดทุน และการพัฒนาระบบคลังข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจ 2) พัฒนาระบบคลังข้อมูลผลงานการให้บริการผู้ป่วย ทรัพยากรบุคคล และเครื่องมือแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชน และ 3) พัฒนาระบบคลังข้อมูลการให้บริการผู้ป่วยรายบุคคล และราคาเรียกเก็บของผู้ป่วยที่ไปรับบริการที่โรงพยาบาลเอกชน
สารี อ๋องสมหวัง
สะท้อน 3 ปัญหา UCEP ปัจจุบัน
ด้าน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงประเด็นการใช้สิทธิ UCEP ว่า ที่ผ่านมามีปัญหา 3 ประการ คือ 1) ผู้บริโภคถูกเรียกเก็บเงินจากการเข้ารับการรักษาพยาบาลในภาวะวิกฤต โดยถูกวินิจฉัยว่าไม่ได้ฉุกเฉินจริง คือ ไม่ได้ช็อก หมดสติ ความดันไม่ได้สูงมาก ไข้ไม่ได้สูง หรือบางกรณีอาจไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นกรณีฉุกเฉินหรือไม่
2) ปัญหาภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลัง 72 ชั่วโมงที่เข้ารับการรักษาโดยใช้สิทธิ UCEP เนื่องจากพบกรณีที่ผู้ป่วยที่หาเตียงไม่ได้ ส่งตัวไม่ได้ หรือต้องอยู่โรงพยาบาลอีกเพียง 1 - 2 วัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าควบคุมค่ารักษาพยาบาลหลังพ้น 72 ชั่วโมงของสิทธิ UCEP ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้สภาผู้บริโภคได้เสนอให้กรมการค้าภายในช่วยกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว และ 3) การใช้สิทธิ UCEP นั้น จะใช้ได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในภาวะวิกฤตสีแดงเท่านั้น สิ่งที่ต้องคิดคือจะทำอย่างไรที่จะให้ผู้ป่วยสีส้ม สีเหลือง สามารถใช้สิทธิ UCEP ได้ด้วย
เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่องค่ารักษาพยาบาลว่า หากไม่ควบคุม จนกระทั่งค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนแพงขึ้น ก็จะทำให้ราคาค่าใช้จ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสูงขึ้น และทำให้งบประมาณที่ใช้ในภาพรวมของประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย ในทางกลับกัน หากโรงพยาบาลเอกชนมีราคาค่าใช้จ่ายที่เป็นธรรมก็จะช่วยลดภาระของโรงพยาบาลรัฐ ที่จะต้องดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก และประชาชนที่พร้อมจะไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนในเชิงทางเลือก ก็จะสามารถที่จะเข้าถึงได้มากขึ้น ดังนั้น การจัดการปัญหาเรื่องสิทธิ UCEP อย่างเป็นระบบ นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคแล้ว ยังส่งผลดีต่อระบบหลักประกันสุขภาพ และงบประมาณของประเทศด้วยเช่นกัน
“สิ่งที่สภาผู้บริโภคอยากเห็น คือ การทำให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถให้บริการกับกลุ่มคนต่าง ๆ ได้มากขึ้น มีค่ารักษาพยาบาลที่เป็นธรรมกับผู้บริโภคมากขึ้น ส่วนกรณีผู้บริโภคที่ใช้สิทธิ UCEP ก็ไม่ควรถูกเรียกเก็บเงิน และควรขยายขอบเขตให้ผู้ป่วยสีส้มสามารถใช้สิทธิได้ด้วย รวมถึงประเด็นเรื่องหลังพ้น 72 ชั่วโมง จะบริหารจัดการระบบอย่างไร เพื่อให้ไม่เป็นภาระต่องบประมาณของแผ่นดิน” นางสาวสารีระบุ
อาทิตยา อาษา
เปิด 4 ข้อร้องเรียนกรณี UCEP
ขณะที่ นายอาทิตยา อาษา ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยถึงสถานการณ์และข้อร้องเรียนของผู้บริโภคจากการเข้าไปใช้นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ หรือ สิทธิ UCEP ว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน ผู้บริโภคพบปัญหาการถูกเรียกเก็บเงินจากการใช้สิทธิ UCEP ในโรงพยาบาลเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งออกเป็นปัญหา 4 ประเภท ได้แก่ 1. โรงพยาบาลไม่ประเมินว่าอาการเข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉิน (เกณฑ์การประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉิน Emergency Pre-Authorization : PA) จึงถูกเรียกเก็บเงิน 2. แพทย์ประเมินว่าอาการไม่เข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินและถูกเรียกเก็บเงิน 3. แพทย์ประเมินเข้าเกณฑ์เข้าข่ายฉุกเฉิน แต่ยังถูกเรียกเก็บเงิน และ 4. แพทย์ประเมินว่าอาการเข้าข่ายวิกฤต 72 ชั่วโมง แต่สุดท้ายยังให้ผู้บริโภคจ่ายเงินเอง
นายอาทิตยา ระบุเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ผู้บริโภคเข้าไม่ถึงการใช้สิทธิ UCEP ได้แก่ 1. อัตราการเบิกจ่ายนโยบายสิทธิ UCEP ของรัฐบาล ไม่สอดคล้องกับต้นทุนของโรงพยาบาลเอกชน 2. แพทย์พิจารณาว่าไม่ใช่อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต เนื่องจากเกณฑ์ PA มีการจำกัดลักษณะของอาการมากเกินไป และ 3. การประชาสัมพันธ์แนวทางการใช้สิทธิ UCEP ยังไม่ทั่วถึงและไม่เพียงพอ
ยกตัวอย่างเช่น กรณีคลอดลูก ที่แม่เด็กตัดสินใจนั่งแท็กซี่ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ซึ่งระหว่างทางเด็กโผล่หัวออกมาแล้ว เมื่อถึงโรงพยาบาลแพทย์ช่วยเหลือจนเด็กคลอดออกมา แต่หลังจาก 5 นาทีต่อมาเด็กเสียชีวิต ซึ่งโรงพยาบาลได้เรียกเก็บเงินจำนวน 25,000 บาท โดยที่เจ้าหน้าที่ว่าไม่ใช่สิทธิฉุกเฉิน หรือกรณีประสบอุบัติเหตุพลัดตกท่อที่ จ.ฉะเชิงเทรา จนทำให้เหล็กที่ท่อเสียบเข้าที่ราวนมด้านซ้าย ผู้ป่วยมีสิทธิบัตรทองแต่ด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือที่จำกัดจึงถูกส่งตัวไปยังอีกโรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลนั้นได้เรียกเก็บเงินค่าเอ็กซเรย์ปอดจำนวน 1,200 บาทด้วย หรือกรณีหมดสติ ระหว่างเดินทางไปวัด ถูกนำส่งโรงพยาบาลตามสิทธิ แต่ถูกส่งไปอีกโรงพยาบาลที่มีประสิทธิภาพการรักษามากกว่า และเมื่อรักษาเสร็จสิ้นได้ถูกเรียกเก็บเงินค่ารถนำส่งจำนวน 4,700 บาท
“นอกจากนี้ยังมีผู้ร้องเรียนเข้ามาอีกด้วยว่าหากไม่จ่ายค่ารักษาพยาบาลก่อนจะไม่ได้รับการรักษา สภาผู้บริโภคเห็นว่าการที่ผู้บริโภคเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษาพยาบาลหรือหากรักษาช้า ไม่ทันเวลา อาจส่งผลต่อชีวิตหรืออาจสูญเสียอวัยวะบางอย่างได้ รวมถึงยังสร้างความเสียหายในเรื่องภาระค่าใช้จ่ายกรณีที่ใช้สิทธิฉุกเฉิน โดยพบว่าผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจากการเข้าไปใช้สิทธิ UCEP ตั้งแต่ 1,000 - 100,000 บาท และหากไม่สามารถชำระได้ จะถูกให้เซ็นยินยอมยอมรับสภาพหนี้จากโรงพยาบาลเอกชนที่เข้ารับการรักษาอีกด้วย” นายอาทิตยา ระบุ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาองค์กรผู้บริโภคได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงมาตั้งแต่ปี 2561 ตั้งแต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่เข้าไปรับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนถูกฟ้องร้องหรือให้เซ็นรับหนังสือยอมรับสภาพหนี้จนเกิดเป็นภาระหนี้สินที่ตามมา กระทั่งกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่กำหนดราคายา - ค่ารักษาพยาบาลเป็นสินค้าและบริการควบคุม
ระหว่างนั้นสมาคมโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลเอกชนอีก 41 แห่ง ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองให้ยุติประกาศฯ ฉบับดังกล่าว แต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นร้องสอดเป็นผู้ถูกฟ้องร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน โดยมองว่าไม่ควรยกเลิกประกาศฯ เพราะจะนำไปสู่ภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนเมื่อเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลเอกชน กระทั่งเมื่อ 14 มิถุนายน 2565 ศาลปกครองสูงสุดได้ยกฟ้องคดีที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชนร้องขอเพิกถอนประกาศฯ และทำให้ประกาศควบคุมราคายา-ค่ารักษาพยาบาลต่อไป แต่ทั้งนี้ทุกคนยังต้องติดตามประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งประเด็นการนำมาบังคับใช้ในการกำหนดราคาของสถานพยาบาล