‘ท่าเรือ’ คาดสรุปผลการศึกษา ‘สายการเดินเรือแห่งชาติ’ ภายในเดือน ก.พ. 66 รอบอร์ดเคาะส่งต่อ ‘ศักดิ์สยาม’ พิจารณาก่อนหมดวาระ มี.ค. 66 แย้มในปีนี้ พร้อมจดทะเบียนจัดตั้ง-เดินเรือ ก่อนเผยเปิดสายทางเดินเรือแรก ‘ท่าเรือแหลมฉบัง - ท่าเรือมาบตาพุต’ ภายในปีนี้เช่นกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 25 มกราคม 2566 นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า กทท. ได้จ้างบริษัท ทรานส์คอนซัลท์ จำกัด และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติและแนวทางการพัฒนากองเรือพาณิชย์ไทย เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง และเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าชายฝั่งภายในประเทศและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือที่ชักธงไทย เป็นการเสริมศักยภาพการแข่งขันลดการขาดดุลค่าระวางเรือให้กับเรือไทย
ขณะนี้คณะที่ปรึกษาได้ดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าวแล้ว 11 เดือน (เดือน ก.พ. 2565 - ก.พ. 2566) แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยโดยผลการศึกษาพบว่า รูปแบบของการจัดตั้ง จะเป็นแบบนิติบุคคลในรูปแบบบริษัท กำหนดให้ภาครัฐถือหุ้นในสัดส่วน 25% เพราะ กทท. เข้าไปถือหุ้นอะไรไม่ได้ เนื่องจาก พ.ร.บ. การท่าเรือแห่งประเทศไทย 2494 กำหนดห้ามเอาไว้ ส่าวนเอกชนเท่าที่รับฟังมา ผู้ประกอบการในไทยส่วนมากให้ความสนใจ แต่ก็ไม่ปิดโอกาสบริษัทต่างประเทศสามารถเข้ามาร่วมลงทุนได้ ไม่ว่าจะในลักษณะกิจการร่วมค้า (Joint Venture: JV) หรือเข้ามาในถือหุ้นโดยตรง ซึ่งก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ปกติ คือ ไม่สามารถถือหุ้นเกิน 49% ได้
ส่วนหากภาครัฐไม่เข้าไปถือหุ้นข้างมาก จะเป็นอุปสรรคในการดำเนินการในอนาคตหรือไม่นั้น ประเด็นนี้ ต้องเรียนว่า การจัดตั้งสายการเรือแห่งชาติ ต้องเน้นความคล่องตัวเป็นหลัก ต้องใช้การตัดสินใจที่กระชับและรวดเร็วเป็นหลัก และรัฐไม่ได้ต้องการแข่งขันกับเอกชน แต่เป็นตัวแกนกลางประสานรวมภาคเอกชนเข้ามา ทำให้เกิดอุปสงค์-อุปทาน และเป็นกลไกในการทำงาน
@รายงาน 'ศักดิ์สยาม' ก่อนหมดวาระ มี.ค. 66
เบื้องต้น อาจจะให้กระทรวงการคลังเข้ามาถือหุ้นตรงนี้ก่อน ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการพิจารณาว่า จะให้เอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาถือหุ้นเท่าไหร่อย่างไร ทั้งนี้ คาดว่าจะสรุปผลการศึกษาได้ในช่วงเดือน ก.พ. 2566 นี้ แล้วเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) กทท.เห็นชอบ แต่เนื่องจากบอร์ดทั้งคณะพ้นวาระทั้งหมด จึงต้องรอการแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่ก่อน แต่น่าจะได้ตัวทั้งหมดภายในเดือน ก.พ. 2566 ได้ เพราะขณะนี้การเสนอบอร์ดชุดใหม่อยู่ที่อยู่ที่กระทรวงคมนาคมพิจารณา
เมื่อบอร์ดเห็นชอบแล้วจะเสนอไปยังนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในเดือน มี.ค. 2566 นี้
@นำร่องในประเทศ 3 สายทาง
โดยเส้นทางเดินเรือในประเทศที่ศึกษาไว้มี 9 เส้นทาง แต่ที่มีความพร้อมที่สุด ณ ตอนนี้จะมี 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. ช่วงท่าเรือแหลมฉบัง - ท่าเรือมาบตาพุต 2. ช่วงท่าเรือไฟร์ซัน จ.สมุทรสงคราม - ท่าเรือแหลมฉบัง และ 3. ช่วงท่าเรือแหลมฉบัง - จ.สุราษฎร์ธานี มูลค่าการลงทุนของแต่ละเส้นทาง อยู่ระหว่างการพิจารณา และสอบทานความเห็นจากเอกชน
ทั้งนี้ คาดว่าสายทางที่ 1 ช่วงท่าเรือแหลมฉบัง - ท่าเรือแหลมฉบัง น่าจะสามารถทำได้ก่อน เพราะปัจจุบันการขนส่งสินค้าระหว่าง 2 ท่าเรือ มีอยู่ประมาณ 400,000 TEUS/ปี และส่วนใหญ่เป็นการขนส่งทางถนนแทบทั้งหมด หากการดำเนินการเส้นทางแรกแล้วเสร็จ ก็คาดว่าจะลดการขนส่งทางถนนลงจากเดิม 80-90% เป็น 70-80% และสัดส่วนขนส่งทางน้ำจะเพิ่มจาก 5% เป็น 10%
@กางแผนบุกตปท. 2 ระยะ
ส่วนเส้นทางการเดินเรือต่างประเทศนั้นได้พิจารณารูปแบบการให้บริการเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศออกเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1(First Phase) เป็นบริการเดินเรือไม่ประจำเส้นทาง (Tramp Service) ให้บริการขนส่งสินค้าประเภทเทกอง (Bulk Cargo) คาดการณ์ส่วนแบ่งปริมาณสินค้าที่จะมาใช้บริการสายการเดินเรือแห่งชาติ 2% คิดเป็น1.2 ล้านตัน ขีดความสามารถในการให้บริการจำเป็นต้องจัดหาเรือประเภท (1) เรือขนาด Handy Max ขนาด 32,000 เดทเวทตัน จำนวน 3 ลำ ให้บริการปีละ 8 รอบ (2) เรือขนาด Supra Max ขนาด 50,000 เดทเวทตัน จำนวน 2 ลำ ให้บริการปีละ 5 รอบ
ระยะที่ 2 (Second Phase) เป็นการให้บริการเดินเรือบรรทุกตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ (Container Service) ให้บริการในเส้นทางเอเชียตะวันออก (จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง) อาเซียน (อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม) และกลุ่มประเทศ BIMSTEC (อินเดียและเมียนมา) ประเภทสินค้าที่ส่งออกจากไทย รวมปริมาณส่งออก 20.0 ล้านตัน สำหรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศรวมปริมาณนำเข้า 9.1 ล้านตัน เบื้องต้นคาดการณ์ปริมาณสินค้าที่จะมาใช้บริการเรือบรรทุกตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ของบริษัทสายการเดินเรือแห่งชาติ 2% ของการส่งออกและนำเข้า คิดเป็นจำนวนสินค้าคอนเทนเนอร์ 31,005 TEUSขนาดของเรือที่จะเข้ามาให้บริการเป็นเรือตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ขนาด 1,500 TEUS (Feeder Size) จำนวน 4 ลำ แต่ละลำทำรอบหมุนเวียน 8 รอบต่อปี