SCB EIC มองเศรษฐกิจไทยปี 66 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.4% แรงส่งภาคการท่องเที่ยว-การบริโภคเอกชน คาดนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ 28.3 ล้านคน เฉพาะนักท่องเที่ยวจีนปีนี้ไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน ห่วง 'การเลือกตั้ง' อาจกระทบเสถียรภาพทางการเมือง
.....................................
เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เผยแพร่บทวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำเดือน ม.ค.2566 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง 3.4% แรงส่งสำคัญมาจากภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่ SCB EIC คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะมาเยือนไทย 28.3 ล้านคนในปีนี้ จากความต้องการท่องเที่ยวไทยที่ยังมีอยู่มาก กอปรกับอานิสงส์จากการยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ของจีนที่เร็วกว่าคาด
“คาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางเข้าไทยไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคนในปีนี้ ส่งผลดีต่อธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม สายการบิน บริษัททัวร์ รถเช่า สปาและเวลเนส การแพทย์ รวมถึงเอื้อให้การโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมของชาวต่างชาติขยายตัวมากขึ้น อีกทั้งการท่องเที่ยวในประเทศสามารถเติบโตดีกลับไปใกล้ระดับก่อนเกิด COVID-19 ทำให้การบริโภคขยายตัวต่อเนื่อง” SCB EIC ระบุ
สำหรับการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2566 มีแนวโน้มไม่สดใสนัก ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงมากภายใต้ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น และอาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการจัดเก็บภาษีนำเข้าใหม่ของประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ ยุโรป (เช่น กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า) และอินเดีย ซึ่งจะเริ่มมีผลบางส่วนตั้งแต่ปีนี้ SCB EIC คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าไทยจะขยายตัวเพียง 1.2% ในปีนี้
ส่วนเงินเฟ้อไทยผ่านจุดสูงสุดแล้วในไตรมาส 3 ปี 2565 จากราคาพลังงานที่เริ่มชะลอลง แต่ขยายวงกว้างไปยังสินค้าหลายประเภทมากขึ้น และจะเห็นการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตสู่ราคาผู้บริโภคมากขึ้น โดย SCB EIC คาดเงินเฟ้อในปี 2566 จะอยู่ที่ 3.2% สูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีจากราคาพลังงานในประเทศและราคาอาหารที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานเร่งขึ้นจาก 2.5% ในปี 2565 เป็น 2.7%
“ในปี 2566 รายได้ครัวเรือนบางกลุ่มจึงโตไม่ทันรายจ่ายประกอบกับเศรษฐกิจอยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นซ้ำเติมภาระค่าใช้จ่าย ทั้งนี้การเลือกตั้งในปีนี้เป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เพราะอาจกระทบเสถียรภาพการเมืองไทย และส่งผลต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของไทยได้” SCB EIC ระบุ
SCB EIC ระบุว่า ส่วนภาวะการเงินไทยมีแนวโน้มตึงตัวขึ้นต่อเนื่อง เป็นผลจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย การสิ้นสุดมาตรการต่ออายุการลดอัตรานำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF fee) และการแข็งค่าของเงินบาทเร็วกว่าสกุลอื่นในภูมิภาค โดย SCB EIC คาดว่าในปี 2566 กนง.จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง 3 ครั้ง (ครั้งละ 25 BPS) สู่ระดับ 2% ณ สิ้นปี 2566 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่จะยังอยู่สูงกว่ากรอบเป้าหมายของ ธปท.
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท SCB EIC ประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้น อานิสงส์จากการเปิดประเทศของจีน และเงินทุนไหลเข้าตลาดการเงินไทย โดยคาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าที่ 31.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปีนี้
SCB EIC ยังประเมินด้วยว่า เศรษฐกิจโลกปี 2566 มีแนวโน้มชะลอลงมากจากปีก่อน แต่ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอยปรับลดลง สาเหตุจาก (1) เครื่องชี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ได้ชะลอตัวแรงนัก สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Manager Index) ในเดือน ธ.ค. ของประเทศเศรษฐกิจหลักส่วนใหญ่ที่เริ่มปรับดีขึ้นจากจุดต่ำสุด อีกทั้ง ผลกระทบจากวิกฤตพลังงานในกลุ่มประเทศยุโรปน้อยกว่าคาดจากราคาพลังงานโลกที่ลดลงเร็วและฤดูหนาวไม่รุนแรงมาก รวมถึงอัตราการว่างงานยังลดลงต่อเนื่อง
(2) จีนเปิดประเทศเร็วกว่าคาด โดย SCB EIC เคยคาดไว้ว่าจีนจะเปิดประเทศในเดือน มี.ค. ซึ่งจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวแข็งแกร่งขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 หลังผ่านการระบาดรุนแรงในช่วงไตรมาสแรกและประชากรจีนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้นแล้ว และ (3) ทิศทางเงินเฟ้อโลกเริ่มชะลอตัวชัดเจนขึ้น ทำให้ความกังวลภาวะการเงินตึงตัวเริ่มปรับลดลง เนื่องจากนโยบายการเงินโลกจะไม่เข้มงวดมากไปกว่าที่ตลาดคาดไว้ ทั้งนี้แม้ทิศทางเศรษฐกิจโลกจะปรับดีขึ้นบ้าง แต่ความไม่แน่นอนยังมีอยู่สูงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และการแพร่ระบาดในจีนที่อาจทำให้จีนกลับมาใช้มาตรการคุมเข้มอีกครั้ง
ส่วนอัตราเงินเฟ้อโลกชะลอตัวชัดเจนขึ้น ผลจากอุปทานคอขวดทยอยคลี่คลาย แรงกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับลดลง และแรงกดดันอุปสงค์ที่ชะลอลง อย่างไรก็ดี แนวโน้มเงินเฟ้อโลกจะยังสูงกว่าเป้าของธนาคารกลางในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ตามราคาอาหารและพลังงานที่จะยังอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิด COVID-19 ส่งผลให้นโยบายการเงินจะยังตึงตัวนานต่อเนื่องไปอีกระยะ โดย SCB EIC ประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี (ครั้งละ 25 BPS) สู่ระดับ 4.75-5% และคงดอกเบี้ยตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้