รัฐบาล แจง กรณีข้อกังวลคนจีนถือวีซ่านักท่องเที่ยว นอมินีธุรกิจร้านอาหารในเยาวราช ทุกหน่วยประสานงานบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เตือน เจอคนไทยถือหุ้นแทนต่างชาติ มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 1 ล้านบาท ด้านตร.ยันลงพื้นที่ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2566 น.ส. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับข้อกังวลกรณีอาจมีนักท่องเที่ยวแอบแฝงเข้าทำธุรกิจหลากหลายประเภทในย่านเยาวราช เช่น ร้านอาหาร ร้านค้าขาย ฯลฯ ในรูปแบบการลงทุนผ่านนอมินี ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลจะติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นการบูรณาการจากหลายภาคส่วน อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้ง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว สันติบาล และตำรวจในพื้นที่ (บช.น.) เพื่อดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นต่อไป
โดยในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้แจงว่า ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 คนต่างด้าวจะประกอบธุรกิจขายอาหารหรือเครื่องดื่มจะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวก่อนจึงจะประกอบธุรกิจได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจในบัญชีสาม (19) ท้ายพระราชบัญญัติฯ ซึ่งทางอย่ากรมฯ มีมาตรการป้องปรามและตรวจการกระทำในลักษณะนอมินี ดังนี้
ขั้นตอนการจดทะเบียน กำหนดให้คนไทยที่ร่วมลงทุนในนิติบุคคลต้องแสดงหลักฐานที่ธนาคารออกให้ เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงินที่แสดงว่ามีทรัพย์สินเพียงพอที่จะลงทุนในนิติบุคคลได้
เมื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว จะตรวจสอบว่ามีการใช้คนไทยถือหุ้นแทนหรือกระทำการในลักษณะนอมินีเพื่อหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ โดยเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงรวมทั้งพยานเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาพิจารณาประกอบการตรวจสอบ ปัจจุบันกรมฯ ได้จัดทำเป็นแผนงานตรวจสอบประจำปีซึ่งธุรกิจขายอาหารหรือเครื่องดื่มเป็นหนึ่งในธุรกิจที่อยู่ในแผนงานตรวจสอบด้วย
กรณีการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจคนเดียว ซึ่งคนต่างชาติไม่สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้ ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ร่วมมือกับกระทรวงแรงงานในการลงพื้นที่ตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มนี้ ซึ่งหากพบว่ามีคนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตก็จะมีความผิดตามกฎหมายของกระทรวงแรงงานและของกระทรวงพาณิชย์ อีกทั้งหากพบคนไทยมีการจดทะเบียนพาณิชย์แทนคนต่างด้าวก็จะมีความผิดในลักษณะนอมินีด้วย
“จึงขอเน้นย้ำว่า คนไทยที่ถือหุ้นแทนคนต่างด้าวหรือร่วมเอาชื่อเข้าเป็นผู้ถือหุ้นโดยไม่ได้ลงทุนจริง หรือให้การสนับสนุนร่วมประกอบธุรกิจกับคนต่างด้าว โดยแสดงว่าเป็นธุรกิจของคนไทยเพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 - 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000 - 50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน มากไปกว่านั้น คนต่างด้าว เมื่อเข้ามาในประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 หากฝ่าฝืนมีความผิดทางอาญาและมาตรการห้ามเข้าประเทศต่อไป อีกทั้ง นายจ้างหรือผู้รับคนต่างด้าวเข้าพักจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นเดียวกัน” น.ส.รัชดา ระบุ
ทางด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลตำรวจตรี อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงข้อกังวลกรณีชาวจีนถือวีซ่านักท่องเที่ยวทำธุรกิจในไทย ว่า จากกรณีที่สื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าวว่า ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารย่านเยาวราชมีข้อกังวลประเด็นชาวจีนถือวีซ่านักท่องเที่ยวทำธุรกิจในไทย โดยระบุว่า กลุ่มชาวจีนรุ่นใหม่ที่มาลงทุนโดยใช้นอมินี หรือมีเพียงวีซ่านักท่องเที่ยวเข้ามาประกอบธุรกิจหลากหลายประเภทในย่านเยาวราช เช่น ร้านอาหาร ร้านค้าขาย ฯลฯ ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ เม็ดเงินต่างๆ จะกระจายสู่ท้องถิ่นน้อยลง และผู้ประกอบการไทยจะประสบปัญหาในระยะยาว ขณะที่รูปแบบการใช้จ่ายจะใช้จ่ายผ่านระบบของจีนระหว่างคนจีนกับคนจีนด้วยกัน รวมถึงสามารถเปิดบัญชีได้ แต่ไม่ทราบว่าปลายทางของเงินจะกลับไปอยู่ที่ประเทศต้นทางของเขาหรือไม่ แต่ที่เห็นชัดคือ ไม่ต้องเสียภาษีเหมือนกับนักธุรกิจชาวไทยนั้น
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่มีโทษทางอาญา และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในฐานะหน่วยงานตรวจสอบและบังคับใช้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พุทธศักราช 2522 สรุปดังนี้
1.คนต่างด้าวถือหนังสือเดินทางสัญชาติจีน สามารถเข้าประเทศไทยได้โดยสามารถขอรับการตรวจลงตราที่ท่าอากาศยาน VOA Visa on arrival ประเภทการท่องเที่ยว 15 วัน ซึ่งปัจจุบันมีมติคณะรัฐมนตรี และประกาศกระทรวงมหาดไทย ขยายให้อยู่เป็นจำนวน 30 วัน และเจ้าของพักอาศัยหรือผู้ครอบครองจะต้องแจ้งที่พักอาศัยให้เจ้าหน้าที่ทราบ เมื่อรับคนต่างด้าวเข้าพักในประเทศไทย
2.กรณีที่คนต่างด้าวเข้ามาท่องเที่ยว จะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์คนเข้าเมือง ซึ่งกฎหมายห้ามมิให้ประกอบอาชีพต้องห้าม หรือประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ หากฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามมาตรา 12(3) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พุทธศักราช 2522 หรือมาตรา 101 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พุทธศํกราช 2560 และตามมาตรา 37(1) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พุทธศักราช 2522 ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา และเป็นเหตุให้ต้องส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และถูกห้ามมิให้เข้ามาในประเทศไทยตามเงื่อนไขที่กำหนด
นอกจากนี้ พลตำรวจตรี อาชยน กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและกฎหมายหลายฉบับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นต่อไป โดยจะให้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว สันติบาล และตำรวจในพื้นที่ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเรียนให้ทราบว่า คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรไทยจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พุทธศักราช 2522 และพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พุทธศักราช 2560 หากฝ่าฝืนมีความผิดทางอาญาและมาตรการห้ามเข้าประเทศต่อไป อีกทั้ง นายจ้างหรือผู้รับคนต่างด้าวเข้าพักจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นเดียวกัน
ที่มาภาพปก : brand inside asia