สธ.-สปสช.ยันภาคประชาสังคมจัดบริการป้องกัน HIV ได้ตามปกติ ภายใต้ระเบียบ 3 ฉบับ ทั้งให้คำปรึกษา เจาะเลือด เก็บสิ่งส่งตรวจ จ่ายยาตามเภสัชกรสั่ง ย้ำสิทธิบัตรทองไร้ปัญหา ส่วนดูแลนอกสิทธิให้เก็บข้อมูลรอเคลียร์เบิกจ่าย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2566 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข หารือร่วมกับ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และผู้เกี่ยวข้อง กรณีการให้บริการป้องกันเอชไอวีของผู้ที่ไม่อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในหน่วยบริการภาคประชาสังคม (Community Based Organization :CBO)
นพ.โอภาสกล่าวว่า กรณีการรักษาเอชไอวี/เอดส์ ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ คือ บัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ยังรับบริการและรับยาได้ตามปกติ ส่วนบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค (PP) ในส่วนของสิทธิบัตรทองยังรับบริการได้ตามปกติเช่นกัน เช่น บริการถุงยางอนามัย ยาป้องกันเอชไอวีก่อนการสัมผัส (PrEP) และยาป้องกันเอชไอวีหลังสัมผัส (PEP) เป็นต้น ซึ่งมีการลงนามจัดสรรงบประมาณไปยังหน่วยบริการทั้งหมดแล้ว สามารถเบิกจ่ายได้ตามปกติ ยกเว้นงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคกลุ่มนอกสิทธิบัตรทอง (PP Non UC) ประมาณ 5 พันล้านบาท ที่อยู่ระหว่างตีความทางกฎหมาย หน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจะให้การดูแลตามเดิม ไม่ให้ได้รับผลกระทบโดยจะเก็บข้อมูลไว้รอเบิกจ่ายกับ สปสช.ภายหลัง ขณะที่หน่วยบริการนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สปสช.จะไปติดตามทำความเข้าใจและวางระบบบริหารจัดการ จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดผลกระทบต่อการป้องกันควบคุมโรค การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี และทำให้โรคเอดส์ระบาดมากขึ้น
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ส่วนองค์กรภาคประชาสังคม หรือ CBO ที่มาช่วยภาครัฐจัดบริการป้องกันเอชไอวี ถือว่าเข้ามาช่วยปิดช่องว่างของภาครัฐ ทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงบริการง่ายขึ้น เพราะส่วนใหญ่จะไม่สะดวกไปรับบริการภาครัฐ แต่ย้ำว่า หน่วยบริการภาคประชาสังคมไม่ใช่หน่วยบริการสาธารณสุข จึงไม่สามารถวินิจฉัยแทนแพทย์ จ่ายยาแทนเภสัชกร หรือตรวจแล็บแทนเทคนิคการแพทย์ได้ การดำเนินงานจึงมีระเบียบกระทรวงสาธารณสุขออกมารองรับ 3 ฉบับ เพื่อมอบหมายให้ดำเนินงานในความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เทคนิคการแพทย์ และเภสัชกรรม โดยจะไปช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มเสี่ยง ในการให้บริการปรึกษาก่อนหรือหลังการตรวจ การปรึกษาทางการแพทย์ การเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ การเจาะโลหิตจากปลายนิ้ว การตรวจหาการติดเชื้อโดยชุดตรวจแบบง่ายและรู้ผลเร็ว การอ่านผลและรายงานผล การส่งต่อเพื่อตรวจวินิจฉัยและเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา รวมถึงการใช้ยาสามัญประจำบ้านตามกฎหมายว่าด้วยยา เพื่อรักษาอาการเบื้องต้น และยาที่ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมสั่งจ่ายให้แก่ผู้รับบริการเฉพาะรายหรือเฉพาะคราว ที่เกี่ยวเนื่องกับเอชไอวี โรคซิฟิลิส หนองใน หรือหนองในเทียม หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน โดยปัจจุบันมีภาคประชาสังคมที่เป็นอาสาสมัคร ผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียน 335 คน รวมกว่า 17 องค์กรในหลายจังหวัด
ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า การดูแลผู้รับบริการกลุ่มนอกสิทธิบัตรทอง ในส่วนของหน่วยบริการอื่นที่ไม่ได้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขนั้น สปสช.ได้ประสานความร่วมมือแล้วหลายส่วน เช่น กทม. กรมแพทย์ทหารบก กรมแพทย์ทหารเรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนภาคประชาสังคมที่จัดบริการ ได้ขอความร่วมมือว่า ในระหว่างที่กำลังแก้ปัญหาด้านกฎหมาย หากสะดวกให้บริการป้องกันโรคเอชไอวีกลุ่มนอกสิทธิบัตรทองยังให้บริการต่อไปได้ โดยให้บันทึกข้อมูลไว้ก่อนแล้วรอเบิกจ่ายกับ สปสช. ภายหลัง แต่หากหน่วยบริการยังไม่ประสงค์จะให้บริการ ก็ขอให้แจ้งมายัง สปสช.เพื่อประสานจัดระบบบริการไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ โดยผู้รับบริการที่มีปัญหา สามารถโทรสายด่วน 1330 กด 16 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่อง 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้ได้รับบริการ