'นพ.ระวี มาศฉมาดล'ร่อนหนังสือถึง รมว.อว.จี้แก้ปมถอดถอน-สรรหาอธิการบดี ชี้ มสธ.ทำรายงานคลาดเคลื่อน ตีความกฎหมาสร้างความสับสน จงใจชะลอเวลาแต่งตั้ง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2566 นพ.ระวี มาศฉมาดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังธรรมใหม่ ได้ยื่นหนังสือถึง รมว.อุดมศึกษาฯ เพื่อให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม กรณีปัญหาธรรมาภิบาลของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มีรายละเอียด ดังนี้
กระผม นพ.ระวี มาศฉมาดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังธรรมใหม่ ได้เคยขอหารือท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรไปยังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง ปัญหาการเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในคราวการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 และต่อมาได้ทำหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีตามความทราบแล้วนั้น
ด้วยปรากฏว่า ในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ได้เผยแพร่ข่าวทั่วไปมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ต่อประชาคม... ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2565
ในการนี้ จึงขอนำเรียนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมมายังท่านเพื่อประกอบการพิจารณาแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว ดังนี้
1.กรณีของมสธ.แห่งนี้ มีข้อเท็จจริงว่า มีคดีความอยู่ในศาลปกครอง ทั้งคดีการถอดถอนและคดีการสรรหาอธิการบดี ที่สำคัญคือ ศาลปกครองมีคำสั่งไม่คุ้มครองทั้งสองคดี เมื่อพิจารณาแนวทางปฏิบัติในเรื่องที่ต้องเสนอขอโปรดเกล้าฯ ทั้งกรณีแต่งตั้งอธิการบดีและถอดถอนอธิการบดี ซึ่งเป็นไปตาม แนวทางปฏิบัติของสานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตามหนังสือสานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร 0508/ว 101 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการเสนอเรื่องที่ต้องนาความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณา ซึ่งกำหนดว่า
“การนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณา ส่วนราชการจะต้องตรวจสอบให้ได้ข้อยุติเสียก่อนว่าการดำเนินการในเรื่องนั้นๆ ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง และเรื่องที่เสนอต้องไม่เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องต่อศาล อันเป็นเหตุให้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เมื่อส่วนราชการได้พิจารณาเรื่องที่จะต้องเสนอฯ ตามแนวปฏิบัติข้างต้นแล้ว จึงจะสามารถส่งเรื่องเพื่อขอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดาเนินการนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณาได้”
ประกอบกับการพิจารณาแนวปฏิบัติในการเสนอเรื่องขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีของสำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตามหนังสือที่ อว.0233.3(3.16)/961 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 เรื่อง ขอความเห็นชอบแนวทางการพิจารณาเสนอเรื่องโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดี ข้อ 3.1 ความสรุปว่า
“กรณีเรื่องร้องเรียนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล หากศาลไม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว (ตามแนวทางที่กาหนดในหนังสือสานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0508/ว 101 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 ที่กาหนดให้การเสนอเรื่องโปรดเกล้าฯ ต้องไม่เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องต่อศาลอันเป็นเหตุให้ ไม่สามารถดาเนินการต่อไปได้) เป็นเรื่องที่สามารถเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง/ถอดถอน ได้โดยไม่ต้องรอการดำเนินการ”
จะเห็นได้ว่า แนวปฏิบัติในการเสนอเรื่องขอโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอธิการบดี ข้างต้นนี้ มีเจตนารมย์แห่งกฎหมายเพื่อให้การพิจารณาเสนอเรื่องโปรดเกล้าฯแต่งตั้งรวดเร็วขึ้น และรองรับเพื่อแก้ปัญหากรณีที่มีเรื่องฟ้องร้องกันในศาล ให้ได้เป็นที่ยุติเสียก่อนตามแนวทางของสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวได้ว่าแนวปฏิบัติดังกล่าวของกระทรวง อว.นี้ เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดข้อยุติที่ชัดเจน
ดังนั้น กรณีของมสธ.แห่งนี้ ทั้งสองคดีศาลไม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จึงเข้าเงื่อนไขตามแนวปฏิบัติข้างต้นอย่างถูกต้อง เป็นเรื่องที่สามารถเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดี ได้โดยไม่ต้องรอการดำเนินการ
หากแต่ทางมสธ.กลับไม่ชี้แจงอย่างตรงไปตรงมา จะเห็นได้อีกว่า การชี้แจงของมสธ.จงใจไม่ได้แสดงความเชื่อมโยงของแนวปฏิบัติของกระทรวง อว.กับสภาพการณ์ที่แท้จริงในทางที่สุจริตและอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการที่ศาลไม่มีคำสั่งคุมครองชั่วคราวและเป็นเรื่องที่กำลังอยู่ในการพิจารณาศาลปกครองสูงสุด และที่ผ่านมาพบว่ามีหลายมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆได้ดำเนินการเสนอโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอธิการบดีไปแล้ว ประกอบกับผู้ได้รับการสรรหาอธิการบดี มสธ. ไม่ปรากฎว่ามีกรณีถูกฟ้องร้องแต่อย่างใด
2.ในการชี้แจงของมสธ.ปรากฎในเอกสารหน้าสุดท้าย
“เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงคดีถอดถอนและการสรรหาอธิการบดี ศาลมีคําสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราว ทั้งสองคดี ข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญในคดีเป็นเรื่องเดียวกันคือ สถานะของกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้แสดงเจตนาลาออกไปแล้วทำให้มติทีกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิท่านนี้ได้เข้าร่วมพิจารณาเสียไปทั้งหมด...”
คำชี้แจงชองมสธ.ข้างต้นเป็นการกล่าวอ้างที่มีความไม่สมเหตุ สมผล น่าจะเป็นการบิดเบือน ใส่ความ เป็นการวินิจฉัยกันเองหรือกล่าวหาให้เกิดความเสียหายในทำนองว่า “กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ได้แสดงเจตนาลาออกไปแล้วทำให้มติที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิท่านนี้ได้เข้าร่วมพิจารณาเสียไปทั้งหมด...”อาจเป็นการเข้าข่ายล่วงละเมิดอำนาจศาล และไม่เป็นธรรมกับกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิท่านนั้นเลย เสมือนนำท่านมากล่าวอ้างใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเป็นเหตุไม่ให้มีการดำเนินการเสนอโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอธิการบดี
อีกทั้ง สภามหาวิทยาลัยมสธ.กลับมีความเห็นและการกระทำที่มีลักษณะย้อนแย้ง เลือกปฏิบัติ กล่าวคือ ปัจจุบันคดีการถอดถอน ทางมสธ.มีการอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง โดยสรุปว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิท่านนั้น ยังไม่ได้ลาออก หากแต่ในคดีการสรรหา ทางสภามหาวิทยาลัยมสธ.กลับเห็นว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ คนเดียวกันนี้ ได้ลาออกแล้ว อันเป็นเหตุให้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้
3.ที่สำคัญ กระทรวงอว.ได้มีหนังสือทางการตอบข้อหารือถึงนายกสภาและกรรมการมหาวิทยาลัย มสธ.กรณีการดำเนินการเสนอขอโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอธิการบดี ไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ลงนามโดยปลัดกระทรวง อว. เพื่อแจ้งขอให้สภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในการเสนอขอโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอธิการบดี ตามมาตรา 20 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อันเป็นการยืนยันทางมสธ.ว่าสามารถดำเนินการได้อย่างถูกกฎหมาย ตามแนวทางและแนวปฏิบัติต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย หากแต่ทางสภามหาวิทยาลัย มสธ.ยังเพิกเฉย โดยอ้างว่าให้รอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดก่อน และเป็นที่น่าสังเกตุว่าประเด็นหนังสือตอบข้อหารือนี้ไม่ปรากฏแต่อย่างใดในการชี้แจงของทางมสธ.
จากที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด จะเห็นได้ว่าการที่ทางมสธ. ได้จัดทำรายงานความคืบหน้ากรณีการถอดถอนและการสรรหาอธิการบดีนั้น เป็นรายงานที่มีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการตีความข้อกฎหมายต่างๆ ที่สร้างความสับสน มีความจงใจเพื่อชะลอเวลาการแต่งตั้งอธิการบดีออกไปเรื่อยๆ สาระสำคัญคือ การจงใจตีความข้อกฎหมายต่างๆ ไม่ตรงกับแนวทางของสำนักนายกรัฐมนตรีและแนวปฏิบัติของกระทรวงอว. อันสะท้อนถึงความไม่สุจริตอย่างเพียงพอในการทำหน้าที่ของนายกสภาฯ และกรรมการสภามหาวิทยาลัยแห่งนี้
ด้วยเหตุนี้ กระผมจึงขอให้ท่านรัฐมนตรีได้โปรดกรุณา มีบัญชาสั่งการผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวนี้โดยเร็ว โดยเฉพาะขอให้มีการผลักดัน อย่างเร่งด่วนให้กับสภามหาวิทยาลัยมสธ. ให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ตามแนวทางของสำนักนายกรัฐมนตรีและแนวปฏิบัติของกระทรวงอว. ตามการสั่งการของปลัดกระทรวงอว. ในหนังสือข้างต้นทั้งสองฉบับ
ทั้งนี้ขอให้ท่านรัฐมนตรีฯ กรุณานำแนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาข้อ37 มาใช้ทันที หากสถาบันอุดมศึกษาใดไม่ปฏิบัติขอให้ดำเนินการตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 หรือดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 39/2559 เรื่อง การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาแล้วแต่กรณีต่อไป
เพราะมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้ว่างเว้นอธิการบดีตัวจริงมากว่า 5 ปีแล้วอันนำไปสู่การผูกขาดอำนาจได้ ที่นับวันมีแนวโน้มของความขัดแย้งของกลุ่มบุคลากรต่างๆที่สูงขึ้น ประกอบกับยังมีเรื่องในเชิงปัญหาธรรมาภิบาลของผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ถูกร้องเรียนเกิดขึ้นเป็นข่าวสาธารณะอยู่ในขณะนี้ ที่รอการแก้ปัญหาจากท่านอีกด้วย