ครม.เห็นชอบ 13 ของขวัญปีใหม่ พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งด้านอาหาร - การศึกษา - ท่องเที่ยว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 3 มกราคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของขวัญปีใหม่ 2566 ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แบ่งเป็น 4 ด้าน ดังนี้
ด้านการพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ประกอบด้วย
1.สนับสนุนอาหาร วิตามินเสริม และบริการทางสุขภาพแม่และเด็ก เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการต่ำของเด็กเล็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพิ่มสุขภาวะของประชาชน จำนวน 46,819 คน
2.สนับสนุนอาหารกลางวันให้แก่โรงเรียนตาดีกา และโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ตามโครงการสร้างคนดีตามหลักการทางศาสนาที่ถูกต้อง เพื่อร่วมสืบสานและรักษาสังคมพหุวัฒนธรรมที่ดีงามของจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,875 แห่ง รวม 171,324 คน
3.ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ภาษาไทย ภาษามลายู ภาษาอาหรับ ภาษาจีน ภาษาอังกฤษและภาษาตุรเครีย แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรองรับการประกอบอาชีพในอนาคต และการเตรียมภาษาให้กับนักศึกษาและผู้ที่ประสงค์จะไปศึกษาและทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเชื่อมโยงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกมุสลิมไม่น้อยกว่า 40,000 คน
4.แก้ไขปัญหาครัวเรือนยากจนที่ยั่งยืน 5 ด้าน (ฐานข้อมูล TPMAP) ไม่น้อยกว่า 1,200 ครัวเรือน
ด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย
1.สนับสนุนงบประมาณแก่ผู้นำท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของหมู่บ้าน-ชุมชน ทุกหมู่บ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้
2.ส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานให้แก่องค์กรภาคประชาสังคมและภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่น้อยกว่า 200 องค์กร
3.จัดตั้งอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา เทศบาลเมืองบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ด้านการผลักดันจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่ "มหานครแห่งอาหารและบริการฮาลาล สู่ ตลาดโลก" ประกอบด้วย
1.การเพิ่มจำนวนฐานแม่วัวพันธุ์พื้นเมือง รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 ตัว
2.การเพิ่มจำนวนฐานแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์แพะ รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 ตัว
3.ขับเคลื่อนเมืองปูทะเลโลกแบบครบวงจร เพิ่มจำนวนลูกปูเพาะพันธุ์ได้เองในพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 1ล้านตัว ครัวเรือน/กลุ่มอาชีพ มากกว่า 100 กลุ่ม และการท่องเที่ยวชุมชน 10 ขมชน
4.เพิ่มจำนวนพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ พืชพลังงานและผลไม้รองรับการพัฒนาภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่น้อยกว่า 50,000 ไร่
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ด้านสุดท้าย คือ การเสริมสร้างพหุสังคมที่เข้มแข็ง ประกอบด้วย
1.การจัดวิ่งตามภูมิศาสตร์ "Amazean Jungle Trail Edition"
2.ปฏิทินประเพณีวัฒนธรรม 12 เดือน และ 3.การซ่อมแชมและบูรณะปฏิสังขรณ์วัดที่มีอายุเกิน 100 ปี โบราณสถาน ศาสนสถาน พิพิธภัณฑ์ เพื่อการเรียนรู้และเป็นแหล่งท่องเที่ยว