‘ธปท.’ เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นธุรกิจฯ เดือน ธ.ค. พบระดับ ‘การผลิต-การค้า-การบริการ’ ของธุรกิจเกือบครึ่งหนึ่ง ฟื้นสู่ระดับเดียวกับก่อนเกิดโควิดแล้ว ยกเว้น ‘ภาคท่องเที่ยว-ก่อสร้าง-อสังหาฯ’ ที่ยังฟื้นตัวช้าๆ ขณะที่ธุรกิจส่วนใหญ่ตั้งเป้าปี 66 มีรายได้เพิ่มขึ้น 5-10% จากปีก่อน ห่วงปัญหาขาดแคลนแรงงาน-เศรษฐกิจโลกชะลอตัว
........................................
เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่ผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) เฉพาะกิจ เดือน ธ.ค.2565 โดยผลสำรวจพบว่า ในภาพรวม ระดับการผลิต การค้าและการบริการของธุรกิจเกือบครึ่งหนึ่ง ฟื้นตัวกลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิดแล้ว ยกเว้นภาคการท่องเที่ยว ก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ซึ่งส่วนใหญ่คาดว่าจะกลับสู่ระดับก่อนโควิดได้ตั้งแต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เป็นต้นไป
สำหรับการสะสมวัตถุดิบคงคลังในภาพรวมลดลงจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตยานยนต์และผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่เห็นการสะสมวัตถุดิบคงคลังลดลงจาก 2-3 เดือน มาอยู่ที่ 1-2 เดือน ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการเร่งผลิตรถยนต์เมื่อได้รับการจัดสรรชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่การสะสมสภาพคล่องของธุรกิจลดลงเช่นกัน โดยลดลงจากเดิมที่มากกว่า 2 ปี มาอยู่ที่ 6 เดือนถึง 1 ปี เช่น กลุ่มผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าเกิดจากคำสั่งซื้อที่เริ่มชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ ในปี 2566 ธุรกิจส่วนใหญ่ตั้งเป้าว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 5-10% จากปีก่อน ยกเว้นภาคการท่องเที่ยวที่ครึ่งหนึ่งเห็นว่ารายได้จะเติบโตสูงกว่า 10% อย่างไรก็ตาม มีธุรกิจบางส่วนที่ตั้งเป้ายอดขายต่ำกว่าปี 2565 เช่น การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คลังสินค้าและสาธารณูปโภค โดยในปี 2566 ธุรกิจยังมีความกังวลจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแรงงานและเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว
“4 ปัจจัยแรก ที่ผู้ตอบคำถามระบุว่า จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของธุรกิจในปี 2566 ได้แก่ ปัจจัยที่ 1 การขาดแคลนแรงงาน ซึ่งมีผู้ตอบสูงสุดที่ 74.2% ,ปัจจัยที่ 2 เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งมีผู้ตอบรองลงมา คือ 60% ,ปัจจัยที่ 3 จำนวนนักท่องเที่ยวน้อยกว่าคาด มีผู้ตอบคิดเป็น 41% และปัจจัยที่ 4 กำลังซื้อในประเทศเปราะบาง โดยมีผู้ตอบคิดเป็น 34.5%” ผลสำรวจ BSI เดือน ธ.ค.2565 ระบุ
นอกจากนี้ ผลสำรวจพบว่า ธุรกิจส่วนใหญ่วางแผนปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นไม่เกิน 5% ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการเติบโตของรายได้ อย่างไรก็ดี ธุรกิจบางส่วนในภาคการท่องเที่ยว ก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ไม่มีแผนขึ้นค่าจ้าง คาดว่าเป็นเพราะปัญหาการขาดแคลนแรงงานในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างไปแล้วเพื่อดึงดูดแรงงาน
ขณะเดียวกัน ธปท.ได้เผยแพร่ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (RSI) เดือน ธ.ค.2565 ซึ่งจัดทำร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย โดยผลสำรวจพบว่า ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกเดือน ธ.ค.2565 ปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลส่งท้ายปี ตลอดจนการบริโภคจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ความเชื่อมั่นฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงตามมาตรการรัฐที่ทยอยหมดลง ต้นทุนที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่องและกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ
ด้านการประเมินการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกนั้น ผลสำรวจพบว่า ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน หรือเดือน พ.ย.2565 ซึ่งเป็นผลของการเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลส่งท้ายปี และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมากขึ้น สะท้อนจากยอดขายสินค้าในกลุ่มอุปโภคบริโภค ร้านอาหาร และสินค้าแฟชั่น อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าที่ปรับแพงขึ้น และกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอกดดันกำลังซื้อในระยะต่อไป
“ธุรกิจส่วนใหญ่ประเมินว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคโดยรวมในไตรมาส 4/2565 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีกส่วนใหญ่ตั้งเป้ายอดขายในปี 2566 เพิ่มขึ้นมากกว่า 5% จากปีก่อน และคาดว่ารายได้จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วสุดในปี 2567” ผลสำรวจ RSI เดือน ธ.ค.2565 ระบุ