บอร์ดอีอีซีที่มี ‘ประยุทธ์’ เป็นประธาน เคาะชื่อ ‘จุฬา สุขมานพ’ เป็นเลขาธิการคนใหม่แล้ว เหลือเจรจาผลตอบแทน - ลงนามในสัญญาจ้างต่อไป คาดจะลงนามกันอย่างเป็นทางการช่วงเดือน ม.ค.นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 28 ธันวาคม 2565 นางธัญรัตน์ อินทร รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีวาระประชุมลับเพื่อพิจารณาแต่งตั้งนายจุฬา สุขมานพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สกพอ. คนใหม่
สำหรับผลการคัดเลือก เลขาธิการ สกพอ. คนใหม่ ที่ประชุม กพอ. มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้ง นายจุฬา สุขมานพ ดำรงตำแหน่งตามที่คณะอนุกรรมการสรรหาที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานเสนอมา ซึ่งหลังจากนี้ จะเข้ากระบวนเจรจาค่าตอบแทน เมื่อเจรจาเสร้จแล้ว ก็จะเสนอให้นายกรัฐมนตรี ลงนามในสัญญาต่อไป โดยคาดว่า จะมีการลงนามช่วงก่อนประชุม กพอ.ครั้งถัดไป ช่วงกลางเดือน ม.ค. 2566
สำหรับนายจุฬา สุขมานพ ปัจจุบันอายุ 57 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ระดับปริญญาโท Master of Laws (Maritime Law) University of Southampton, United Kingdom และระดับปริญญาเอก Doctor of Philosophy, University of Southampton, United Kingdom
ประวัติการทำงานย้อนหลัง เคยเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ช่วง 2552-2553, ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม (2553-2555), ผู้อำนวยการ สนข. (2555-2557), อธิบดีกรมเจ้าท่า (2557-2558), อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (2558-2559), ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ช่วงปี 2559-2563 และผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม (2563-ปัจจุบัน)
โดยผลงานสำคัญของนายจุฬาคือ ปลดธงแดงขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งการติดธงแดง คือการถูกประเมินว่า เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน จากการที่ไทยไม่สามารถกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยการบินของประเทศให้ได้ตามมาตรฐานสากล เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2558 ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ปี จึงสามารถปลดธงแดงสำเร็จเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2560
นอกจากนี้ ที่ประชุม กพอ. พิจารณาเห็นชอบหลักการโครงการยกระดับโรงพยาบาลปลวกแดง 2 วงเงินโครงการ 2,000 ล้านบาท ที่มีกระทรวงสาธารณสุข และ สกพอ. เป็นหน่วยงานหลักร่วมกันดำเนินการ ในรูปแบบการลงทุนรัฐร่วมเอกชน (PPP) ประเภท Build Transfer Operate : BTO ที่เอกชนเป็นผู้ออกแบบ ลงทุน ก่อสร้างทรัพย์สินสำคัญและโอนกรรมสิทธิ์ให้รัฐทันทีหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งจะเป็นต้นแบบการลงทุนขยายโรงพยาบาลของรัฐโดยความร่วมมือจากเอกชน และจะช่วยแก้ข้อจำกัดด้านงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข
โรงพยาบาลปลวกแดง 2 จะเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็ก (M1) รองรับได้ 120 -200 เตียง โดยจะเป็นโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานเป็นโรงพยาบาลคู่สัญญาของประกันสังคม ประกอบด้วย อาคารผ่าตัด - อุบัติเหตุ อาคารผู้ป่วยใน และ/หรืออาคารอื่นๆ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด มีบุคลากรและครุภัณฑ์การแพทย์ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข มีบริการพิเศษ (Premium Service) และระบบส่งต่อผู้ป่วยที่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะรองรับผู้ประกันตน ไม่ต่ำกว่า 200,000 คน ในอำเภอปลวกแดง โดยประชาชนที่อยู่อาศัย และทำงานในพื้นที่อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง จะได้รับบริการสาธารณสุขในระดับมาตรฐาน ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที สะดวกปลอดภัย และเพื่อลดการเดินทางไปรักษาพยาบาลนอกพื้นที่ รวมทั้งที่ประชุม กพอ. ได้เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชน ฯ ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ โดยแผนการดำเนินงานที่สำคัญต่อไป คาดว่าจะประกาศเชิญชวนการคัดเลือกเอกชน ได้ในช่วงต้นปี 2566 และคาดว่าจะสามารถประกาศผลการคัดเลือก พร้อมลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชน เพื่อยกระดับโรงพยาบาลปลวกแดง 2 ได้ในช่วงกลางปี 2566 ซึ่งการออกแบบก่อสร้างโครงการต่างๆ จะแล้วเสร็จไม่เกิน 3 ปี และมีระยะเวลาดำเนินโครงการทั้งหมด 50 ปี