ครม.รับทราบแผนปฏิบัติการ ‘โครงการศูนย์ธุรกิจ EEC-เมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ’ หวังดันไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการเงินระดับภูมิภาค ตั้งเป้า 10 ปีลงทุน 1.35 ล้านล้าน
......................................
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกฯ เรื่อง ร่างแผนปฏิบัติการด้านโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ วงเงินลงทุน 1.35 ล้านล้านบาท ภายใต้วิสัยทัศน์ “เพื่อเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการเงินระดับภูมิภาค มาตรฐานเทียบเท่าสากลภายในปี 2570 และเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 1 ใน 10 ของโลกในปี 2580”
สำหรับร่างแผนปฏิบัติการด้านโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะดังกล่าว กำหนดพันธกิจไว้ 4 ด้าน คือ 1.พัฒนาพื้นที่ศูนย์ธุรกิจศูนย์การเงิน 2.พัฒนาพื้นที่สำหรับศูนย์ราชการสำคัญ ศูนย์วิจัยและพัฒนา สถาบันการศึกษา 3.พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย น่าอยู่สำหรับคนทุกกลุ่ม และ4.เป็นศูนย์ธุรกิจและเมืองน่าอยู่อัจฉริยะนำร่องที่รัฐเป็นเจ้าของที่ดิน เอกชนเป็นผู้ร่วมลงทุน และประชาชนเจ้าของพื้นที่มีส่วนร่วมในการลงทุน
น.ส.รัชดา ระบุว่า สำหรับการพัฒนาโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ มีระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2566-2570) พัฒนาพื้นที่ 5,795 ไร่ หรือคิดเป็น 40% ของพื้นที่โครงการ เช่น พัฒนาย่านศูนย์กลางธุรกิจและศูนย์กลางการเงิน ย่านสำนักงานภูมิภาค สถานที่ราชการ และที่อยู่อาศัย
ระยะที่ 2 (พ.ศ.2571 – 2572) พัฒนาพื้นที่ 4,254 ไร่ หรือคิดเป็น 29% ของพื้นที่โครงการ เช่น พัฒนาส่วนต่อขยายย่านศูนย์ธุรกิจเฉพาะด้านศูนย์การแพทย์แม่นยำและการแพทย์เพื่ออนาคต ศูนย์การศึกษา และระยะที่ 3 (พ.ศ.2573 - 2575) พัฒนาพื้นที่ 4,570 ไร่ หรือคิดเป็น 31% ของพื้นที่โครงการ เช่น พัฒนาพื้นที่ผสมผสานเชิงพาณิชย์และที่อยู่อาศัยและกิจการเป้าหมายต่อเนื่องจนเต็มพื้นที่โครงการ
ขณะที่กรอบวงเงินลงทุน 1.35 ล้านล้านบาท ตลอดระยะเวลาโครงการ 10 ปี นั้น จะมาจาก 3 แหล่ง คือ 1.เงินลงทุนโดยภาครัฐ ประมาณ 37,674 ล้านบาท เช่น ค่าชดเชยที่ดิน ค่าดำเนินการปรับพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคส่วนกลาง 2.รัฐวิสาหกิจหรือเอกชนหรือร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 131,119 ล้านบาท เช่น ระบบดิจิทัล ระบบบริหารจัดการอัจฉริยะ และระบบขนส่งสาธารณะในเมือง ระบบจัดการขยะ และ 3.ภาคเอกชน 1.18 ล้านล้านบาท
ส่วนการขับเคลื่อนร่างแผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ออกแบบวางแผนเชิงพื้นที่เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าประสงค์ ,ยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างแพลตฟอร์มข้อมูลและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างระบบเทคโนโลยีความน่าอยู่อัจฉริยะ 7 ด้าน คือ เช่น การสัญจรอัจฉริยะ (Smart Mobility) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) และสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างสภาพแวดล้อมรองรับธุรกิจ เศรษฐกิจนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา ,ยุทธศาสตร์ที่ 5 สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน และยุทธศาสตร์ที่ 6 สร้างธรรมาภิบาลมาตรฐานสากล ความร่วมมือระดับนานาชาติ
น.ส.รัชดา กล่าวว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากการสร้างเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะของ EEC ได้แก่ 1.เมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ สามารถรองรับประชากรประมาณ 350,000 คน ภายในปี 2575 รวมทั้งคนในพื้นที่เดิม 2.สร้างงานทางตรงไม่น้อยกว่า 200,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2575 มีแรงงานทักษะสูง มีรายได้ที่สูงขึ้น และมีมูลค่าการจ้างงานกว่า 1.2 ล้านล้านบาท มีธุรกิจและบริการตามมาตรฐานสากล มีวิสาหกิจเริ่มต้น (Start-up) ประมาณ 150 -300 กิจการ
3.จากมูลค่าการลงทุนโดยรวมประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท จะช่วยกระตุ้นการขยายตัวของ GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปี และสร้างพลังทางเศรษฐกิจให้ประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 และ 4.สินทรัพย์ที่โอนกรรมสิทธิ์กลับมาเป็นของรัฐ เมื่อสิ้นสุดสัญญา 50 ปี จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า