'หมอยง' เผยควรใช้แอนดิบดีรักษาโควิด แนะให้รีบใช้ยามีอยู่ในระลอกนี้ ไม่ควรเก็บไว้ ชี้ไวรัสกลายพันธุ์ไปแล้ว ก็จะใช้ไม่ได้ผล-ไม่มีประโยชน์
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2565 นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุถึงการการใช้แอนติบอดี้ในการป้องกัน รักษาโรคโควิด-19 ว่า ในระยะแรกเมื่อไม่มีวัคซีน เราก็ใช้แอนติบอดี้มาช่วยในการรักษา เช่นการใช้พลาสมาของผู้ที่หายจากโรค covid 19 แล้ว ซึ่งมีแอนติบอดี้อยู่เปลียบเสมือนการให้เซรุ่ม หรือโมโนโคลนอลแอนติบอดี มาช่วยในการรักษา
ต่อมาเมื่อมีวัคซีนในการสร้างภูมิต้านทานแอนติบอดี ความจำเป็นที่จะใช้ พลาสมา แอนติบอดี้ ก็ไม่มี เพราะร่างกายสามารถสร้างแอนติบอดี้ได้จากวัคซีน หรือการติดเชื้อแล้ว เราจะใช้ในผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนและไม่เคยติดเชื้อมาก่อน
ไวรัสมีการกลายพันธุ์เรื่อยมา ทำให้ แอนตี้บอดี้ที่สังเคราะห์หรือสร้างขึ้นมาด้วยสายพันธุ์เดิม มีประสิทธิภาพน้อยลง หรือใช้ไม่ได้ จนมาถึงสายพันธุ์ปัจจุบัน เป็นโอมิครอน BA.2.75 แอนติบอดี้ที่ยังพอใช้ได้ในบ้านเราก็คงจะเป็น แอนติบอดี้ที่จัดหามาที่เรียกว่า LAAB (Evushield) และต่อไป ไวรัสถ้าเปลี่ยนแปลงไปถึง สายพันธุ์ย่อย BQ.1, BQ.1.1 หรือ XBB ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพน้อยลงไปอีก
การใช้แอนติบอดี้ ที่มีอยู่ในบ้านเราขณะนี้ควรให้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วภูมิต้านทานไม่ตอบสนอง ได้แก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ผู้กินยากดภูมิต้านทาน ผู้ป่วยเปลี่ยนอวัยวะ ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยยาหรือรังสีที่มีผลต่อภูมิต้านทาน มีอยู่เป็นจำนวนมากพอสมควร
แอนติบอดี้ LAAB ยังสามารถมาใช้ในการรักษา คล้ายกับแต่เดิมการให้พลาสม่า ในกลุ่มเสี่ยงที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน หรือ ได้รับวัคซีน 1 หรือ 2 เข็ม เพราะระดับภูมิต้านทานอาจจะยังต่ำหรือไม่มี การให้แอนติบอดี้แต่เริ่มแรกเมื่อติดเชื้อ จะช่วยลดความรุนแรงของโรค และอัตราการเสียชีวิตลงได้
ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเอง มี LAAB เพียงพอ ที่จะให้กับผู้ป่วยดังกล่าว ยาดังกล่าวมีความปลอดภัยสูง
และขณะนี้โรคอยู่ในขาขึ้น ผู้ป่วยในกลุ่มเปราะบางดังกล่าว จึงควรได้รับแอนติบอดี้เป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งเมื่อมีการติดเชื้อ ก็ควรได้รับ เพื่อการรักษาด้วยแอนตี้บอดี้ เพื่อลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิต
ยาที่มีอยู่ขณะนี้ ควรจะรีบใช้ในระลอกนี้ ไม่ควรเก็บไว้ เพราะเมื่อไวรัสกลายพันธุ์ไปแล้ว ก็จะใช้ไม่ได้ผล หรือไม่มีประโยชน์
ถอดบทเรียนโควิดช่วง 3 ปี ชี้เป็นแล้วเป็นอีกได้ ภูมิคุ้มกันไม่หยุดการระบาด ย้ำไม่มีวัคซีนเทพ
อนึ่งก่อนหน้านี้ ศ.นพ.ยง ได้โพสต์ข้อความถึง 15 ข้อการเรียนรู้เกี่ยวกับโรคโควิด 19 ในช่วง 3 ปี ว่า จากระยะเวลาที่ผ่านมา 3 ปี เราได้เรียนรู้ เกี่ยวกับโรคโควิด 19 และ เปลี่ยนแปลงความเข้าใจมากขึ้น ดังนี้
1.โรคโควิด 19 เป็นแล้วเป็นอีกได้ การติดเชื้อซ้ำ หรือมีอาการของโรคซ้ำเกิดขึ้นได้ เหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่ RSV ไม่เหมือนกับโรคหัด ตับอักเสบ เอ สุกใส ที่เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีภูมิต้านทานป้องกันโรคตลอดชีวิต
2.ภูมิคุ้มกันหมู่ที่มีการพูดกันมาก ในระยะแรก เพื่อหวังจะยุติการระบาดของโรคไม่สามารถใช้ได้กับโควิด ถึงแม้ว่าประชาชนเกือบทั้งหมดมีภูมิต้านทาน โรคก็ยังเกิดอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้หายไปไหน
3.โรคโควิด 19 จะเป็นโรคตามฤดูกาล สำหรับประเทศไทยจะมีจุดสูงสุดของการระบาดในเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน และช่วงที่ 2 ในกลางเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ แต่จะน้อยกว่าในช่วงแรก
4.ความหวังที่จะใช้วัคซีนในการยุติการระบาดของโรค หรือควบคุมการระบาด อย่างในปีแรกที่คาดหวัง จึงไม่สามารถใช้ได้
5.วัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่มีวัคซีนตัวไหนเป็นวัคซีนเทพ อย่างที่ตอนแรกทุกคนเรียกร้อง วัคซีนทุกตัวไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ลดความรุนแรงของโรคลง ลดอัตราการเสียชีวิต
6.ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากวัคซีน ไม่ว่าจะสูงต่ำที่ตรวจวัดกัน ไม่สามารถที่จะมาป้องกันการติดเชื้อได้ ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจวัดภูมิต้านทาน ยกเว้นในการศึกษาวิจัยเท่านั้น
7.การดูแลที่สำคัญคงจะต้องเน้นกลุ่มเสี่ยงเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการเสียชีวิตด้วยวัคซีน ต่อไปจะต้องเน้นกลุ่มเปราะบางเช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่
8.การตรวจวินิจฉัยว่าติดเชื้อหรือไม่ ปัจจุบันใช้เพียง ATK ก็เพียงพอ ถึงแม้ว่าจะมีความไวต่ำกว่า realtime RT -PCR ด้วยข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่ายและระยะเวลา เราหมดเงินไปมากแล้ว
9.สิ่งสำคัญที่ต่อไปจะเน้นการรักษาในกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะการใช้ยาต้านไวรัส ที่มีประสิทธิภาพ และเป็นไปได้ต้องการที่ดีกว่าในปัจจุบัน การศึกษาในประชากรกลุ่มเล็กส่วนใหญ่จะได้ผลดี แต่เมื่อมาใช้จริงกลับมีประสิทธิภาพน้อยกว่าการศึกษา เช่นเดียวกันกับวัคซีน การทดลองได้ผลดีแต่เมื่อใช้จริง ประสิทธิภาพน้อยกว่าการทดลองมาก
10.ระยะเวลาการกักตัว น้อยลงมาโดยตลอด ระยะแรกต้องเข้มงวดเรื่องการแพร่กระจายให้เป็นศูนย์ แต่ปัจจุบันโรคติดต่อง่าย จึงใช้มาตรการเข้มงวดและระเบียบวินัย การกักตัวอยู่ที่บ้าน ไม่ใช่โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามแล้ว โรงพยาบาลจะใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการมากเท่านั้น เหมือนในภาวะปกติ
11.ในอนาคตเมื่อประชากรส่วนใหญ่ติดเชื้อ ก็จะเกิดภูมิต้านทานแบบลูกผสม จะมีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของโรคได้เป็นอย่างดี การฉีดวัคซีนบ่อย จะไม่มีความจำเป็น ไวรัสเองก็จะเปลี่ยนพันธุกรรมไปเรื่อยๆ ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้
12.กลุ่มประชากรที่ยังไม่มีภูมิต้านทานหรือไม่เคยติดเชื้อและไม่เคยได้รับวัคซีนเลย จะเป็นกลุ่มเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดขึ้นไป จนกว่าจะได้รับวัคซีนหรือการติดเชื้อ อย่างไรก็ตามการติดเชื้อในวัยเด็ก ความรุนแรงน้อยกว่าในวัยผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ ในวัยเด็กช่วง 6 เดือนแรก จะได้รับภูมิบางส่วนส่งต่อจากมารดา เหมือนโรคทางเดินหายใจทั่วไปเช่น RSV และก็จะเริ่มไปติดเชื้อหลัง 6 เดือนไปแล้ว
13.ระยะเวลาต่อไป ชีวิตก็จะเข้าสู่ภาวะปกติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และโรคนี้ก็จะเป็นโรคทางเดินหายใจโรคหนึ่ง เช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆที่เกิดจากเชื้อไวรัส
14.ทุกชีวิตต้องเดินหน้าต่อไป และเชื่อมั่นว่า ความรุนแรงของโรคมีแนวโน้มที่จะลดลงเหมือนกับโรคทางเดินหายใจเช่นไข้หวัดใหญ่ RSV
15. องค์ความรู้ใหม่ด้วยงานวิจัย ยังจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ความรู้นั้นในบริบทของประเทศไทย