‘ชัชชาติ’ ถกบอร์ดบริหาร กทม. ขอแก้พ.ร.บ.ระเบียบบริหาร กทม.ปี 28 เพื่อขยายช่องทางหารายได้เพิ่ม อาทิ ภาษียาสูบ และภาษีโรงแรม พร้อมเพิ่มค่าอุปกรณ์-อาหารกลางวัน เด็กเล็กในศูนย์พัฒนาฯ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 6 ธันวาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 26/2565 หารือถึงเรื่องโพลเกี่ยวกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีทั้งจุดที่ดีและไม่ดี จุดที่ไม่ดีก็ต้องปรับปรุง โดยเรื่องหลัก ๆ คือ ค่าครองชีพ คนเร่ร่อน และปัญหาจราจร ซึ่งเรื่องค่าครองชีพต้องดูเรื่องการให้บริการให้ดี เพราะเราไม่ได้ให้เงิน แต่ให้ในเรื่องของการบริการ เช่น อาหารกลางวันเด็กนักเรียน การรักษาพยาบาล เป็นการช่วยลดค่าใช้จ่าย เป็นมิติที่ต้องเพิ่มการให้บริการที่มีคุณภาพ ส่วนปัญหาคนเร่ร่อน กำลังผลักดันอยู่ อาจเห็นคนเร่ร่อนเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจภาพรวมด้วย ด้านปัญหาจราจร ได้เร่งรัดให้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้น
● จ่อแก้ พ.ร.บ. รีดภาษียาสูบ-โรงแรมเพิ่มรายได้ กทม.
ต่อมาเป็นเรื่องแนวทางการเพิ่มรายได้ให้กรุงเทพมหานครที่พยายามไม่ให้กระทบกับประชาชนส่วนใหญ่ เช่น ภาษียาสูบ ภาษีจากโรงแรม ซึ่งขณะนี้กรุงเทพมหานครยังไม่มีอำนาจในการจัดเก็บได้ ต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 2528 ก่อน จากนั้นจะสรุปรายละเอียดและนำส่งกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะมีการปรับ พ.ร.บ. ในหลาย ๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องแล้วดำเนินการครั้งเดียวพร้อมกันไปเลย
นอกจากนี้ อีกแนวทางที่สำคัญในการเพิ่มรายได้ คือการจัดทำระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นให้ดี มี 7 ระบบย่อย ได้แก่ 1. ระบบจัดการภาษีท้องถิ่น 2. ระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 3. ระบบบริหารงานด้านการสำรวจ 4. ระบบภาษีป้าย 5. ระบบให้บริการตรวจสอบข้อมูล 6. ระบบบริหารใบเสร็จรับเงิน และ 7. ระบบบริหารจัดการลูกหนี้ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการเตรียมตรวจรับงานจากผู้รับจ้าง
● เพิ่มค่าอุปกรณ์การเรียนและค่าอาหารศูนย์ฯ เด็กเล็ก กทม.
นอกจากนี้มีเรื่องเกี่ยวกับการปรับปรุงระเบียบเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเรื่องค่าครองชีพ ซึ่งได้มีการออกระเบียบเพิ่มเงินช่วยเหลือด้านอุปกรณ์การเรียนสำหรับเด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนจากเดิม 100 บาท เป็น 600 บาท ต่อปี และเพิ่มค่าอาหารจาก 20 บาท เป็น 32 บาท ต่อวัน แบ่งเป็น ค่าอาหาร 25 บาท และค่านม 7 บาท ซึ่งจะสามารถช่วยบรรเทาภาระของผู้ปกครองได้บ้าง ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีเด็กก่อนวัยเรียนที่ต้องดูแลประมาณ 20,000 คน