‘กสทช.’ ศึกษาแนวทางให้ใบอนุญาต ‘วิทยุดิจิทัล’ เพิ่มทางเลือก หลังใบอนุญาตทดลองใช้คลื่นความถี่ ‘ระบบเอฟเอ็มกำลังส่งต่ำ’ สิ้นสุดปี 67 พร้อมรื้อแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงฯ-ประกาศฯ 7 ฉบับ เพิ่มประสิทธิภาพกำกับ ‘กิจการกระจายเสียง’
.......................................
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (30 พ.ย.) กสทช.ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องเข้ามารับฟังผลสรุปการรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอจากผู้เกี่ยวข้องด้านวิทยุกระจายเสียง เพื่อเป็นข้อมูลในการดำเนินการยกระดับกิจการกระจายเสียงไทย เพื่อก้าวสู่มาตรฐานสากลเพื่อสร้างสรรค์สังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนต่อไป
พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กสทช.ได้จัดประชุมรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เกี่ยวข้องด้านวิทยุกระจายเสียง เช่น ผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ผู้แทนสมาคม สมาพันธ์ องค์กรภาคีเครือข่าย กลุ่มผู้รับใบอนุญาต กลุ่มผู้ทดลองออกอากาศ ผู้ดำเนินรายการ ผู้ผลิตรายการ และกลุ่มผู้ฟังวิทยุ เป็นต้น ทั้งในรูปแบบ Onsite และ Online ในพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด เป็นจำนวน 5 ครั้ง
สำหรับผลสรุปการรับฟังฯดังกล่าว ผลปรากฏว่าผู้เกี่ยวข้องได้มีข้อเสนอแนะรวม 212 ประเด็น แบ่งได้เป็น 5 หมวด ได้แก่ 1.ประเด็นด้านเนื้อหารายการ 2.ประเด็นด้านการอนุญาต 3.ประเด็นด้านเทคนิค 4.ประเด็นด้านการเงิน และ 5.ประเด็นด้านอื่นๆ เช่น เรตติ้งวิทยุดิจิทัล และการส่งเสริมสนับสนุน เป็นต้น
จากนั้นได้แบ่งปัญหาออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มปัญหาที่ กสทช. สามารถแก้ไขได้ทันที เช่น การปรับปรุงกระบวนรับเรื่องร้องเรียนให้มีการดำเนินการที่รวดเร็วขึ้น และการให้ความรู้และอบรมแนวทางในการออกอากาศ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ กสทช.ได้ดำเนินการแล้วบางส่วน และ2.กลุ่มปัญหาที่ กสทช. จะต้องมีการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อน จึงจะดำเนินการแก้ไขปัญหาได้
โดยเฉพาะปัญหาในกลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่องการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมาย นั้น ที่ผ่านมาได้มีการเสนอให้ที่ประชุม กสทช. พิจารณาปรับปรุงแก้ไขแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และยังมีเสนอให้แก้ไขปรับปรุงประกาศและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอีก 7 ฉบับ เพื่อทำให้การกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและลดข้อพิพาทต่างๆได้ด้วย ได้แก่
1.ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการกระจายเสียง2.ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ว่าด้วยการทดลองออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในระบบเอฟเอ็ม 3.ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม 4.ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการกระจายเสียงระบบเอฟเอ็มกำลังส่งต่ำ 5.ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็มกำลังส่งต่ำ
6.ประกาศ กสทช. เรื่อง การทดสอบมาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง ระบบเอฟเอ็ม กำลังส่งต่ำ และ7.ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ป้องกันการรบกวนการใช้คลื่นความถี่ของสถานีวิทยุกระจายเสียงต่อกิจการวิทยุการบิน
“การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ก็เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและง่ายต่อการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและลดข้อพิพาทต่างๆ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหลังจากใบอนุญาตทดลองออกอากาศสิ้นสุดลงในปี 2567 รวมทั้งการจะพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ระบบเอฟเอ็มกำลังส่งต่ำให้ถึงในปี 2567 และในปี 2567 กสทช.จะศึกษาแนวทางในการอนุญาตกิจการกระจายเสียงในระบบดิจิทัล เพื่อเป็นทางเลือกไปพร้อมกันด้วย” พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ กล่าว
พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ ย้ำว่า การรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงที่ผ่านมา เป็นความตั้งใจของตน ในฐานะ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง ที่จะรับฟังเสียงจากผู้ประกอบกิจการฯ และผู้เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ต่างๆ ด้วยความโปร่งใส และเป็นธรรมเพื่อที่ กสทช. จะได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเหล่านั้นมาใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินการยกระดับกิจการกระจายเสียงไทย เพื่อก้าวสู่มาตรฐานสากลเพื่อสร้างสรรค์สังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนตามที่ตนได้ตั้งวิสัยทัศน์ไว้ตั้งแต่แรก
“หากมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดมาแอบอ้างว่าสามารถพูดคุยกับ กสทช. หรือเสนอแนะและช่วยเหลือเรื่องใดๆได้เป็นกรณีพิเศษ ขออย่าได้หลงเชื่อเป็นอันขาด” พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ กล่าว