สธ.เผยสถิติเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 51 แห่งทั่วประเทศ พบผู้หญิงบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกทำร้ายกว่าปีละ 8,577 ราย แนะคนในครอบครัวเคารพให้เกียรติกัน ไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรง
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2565 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 25 พ.ย.ของทุกปี เป็นวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นหนึ่งในปัญหาที่มีผลกระทบต่อครอบครัวและสังคมเป็นอย่างมาก สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความสัมพันธ์ในครอบครัว สิ่งแวดล้อม และการใช้สารกระตุ้น เช่น แอลกอฮอล์ สารเสพติด
จากข้อมูลการเฝ้าระวังความรุนแรงในผู้หญิงระหว่างปี 2562 – 2564 จากระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ (Injury Surveillance : IS) ใน โรงพยาบาล 51 แห่งทั่วประเทศ ของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบว่า ผู้หญิงบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกทำร้ายกว่าปีละ 8,577 ราย กลุ่มอายุที่ถูกทำร้ายมากที่สุดคือ 20 – 24 ปี (ร้อยละ 15) วิธีการถูกทำร้ายมากที่สุดคือ การถูกทำร้ายด้วยกำลังกาย (ร้อยละ 60) สถานที่ถูกทำร้ายเป็นบริเวณบ้าน (ร้อยละ 63.4) ซึ่งเป็นบ้านผู้บ้านเจ็บเองกว่า (ร้อยละ 79.7) มีความเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ร้อยละ 11.3)
สำหรับความรุนแรงทางเพศพบว่า ผู้หญิงอายุ 10-14 ปี ถูกทำร้ายทางเพศด้วยกำลังกายมากที่สุด (ร้อยละ 31.4) สถานที่เกิดเหตุคือที่บ้าน (ร้อยละ 62) เป็นบ้านตนเอง (ร้อยละ 45.8) และเป็นบ้านคู่กรณี (ร้อยละ 23.7) ช่วงเวลาที่เกิดเหตุมากที่สุดคือ 18.00 - 20.59 น. มีความเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ร้อยละ 8)
ประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง คือการถูกทำร้ายในเด็กแรกเกิด - 4 ปี พบสาเหตุจากการถูกทำร้ายแรงทางเพศเฉลี่ยปีละ 19 ราย หรือคิดเป็น (ร้อยละ 34.8) จากสาเหตุการถูกทำร้ายที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลที่เฝ้าระวัง การถูกทำร้ายด้วยกำลังกาย (ร้อยละ 32.9) และการถูกทำร้ายด้วยวัตถุไม่มีคม (ร้อยละ 10.4)
นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการในการป้องกันความรุนแรงจากการถูกทำร้ายนั้น ต้องเริ่มจากระดับบุคคล ต้องไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น การเคารพสิทธิและความเท่าเทียมกันของตนเองและคนรอบข้าง หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติด ระดับครอบครัวคือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ทำกิจกรรมร่วมกัน เรียนรู้การควบคุมอารมณ์ และการแก้ไขปัญหาโดยไม่ใช้กำลังหรือความรุนแรงระดับชุมชน ควรเพิ่มความเข้มงวดมาตรการควบคุมการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติด รณรงค์การไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรงเมื่อพบเห็นการกระทำความรุนแรง ให้รีบแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบทันที หรือโทรแจ้งสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300