‘กทพ.’ เผยเตรียมขายซองประมูลทางด่วนกะทู้ - ป่าตอง จ.ภูเก็ต วงเงิน 1.4 หมื่นล้าน ต้น ธ.ค.นี้ คาดได้ตัว ต้นปี 66 ก่อสร้าง 4 ปี เสร็จให้บริการปี 70 ขณะที่ส่วนต่อขยายศึกษาเสร็จปลายปี 66
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 21 พฤสจิกายน 2565 นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูนสุข ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการดำเนินโครงการทางพิเศษช่วงกะทู้ - ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กม. วงเงิน 14,670.57 ล้านบาท (ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 5,792.24 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง จำนวน 8,662.61 ล้านบาท ค่าควบคุมงานก่อสร้าง จำนวน 215.72 ล้านบาท) หลังจากได้จัดการรับฟังความเห็นภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งที่ 2 เมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2565 พบว่า มีเอกชนให้ความสนใจโครงการพอสมควร
โดยหลังจากนี้ คาดว่าจะสามารถขายซองประมูลโครงการได้ในช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2565 นี้ จากนั้นประมาณ 3 เดือน หรือประมาณปลายเดือน ก.พ. - ต้นเดือน มี.ค. 2566 จะเปิดให้ยื่นซองประมูล ซึ่งการพิจารณาซองประมูลใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ช่วงปลายปี 2566 จะได้ตัวเอกชนผู้รับจ้าง การก่อสร้างใช้เวลา 4 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมให้บริการในปี 2570 รับกับการเป็นเจ้าภาพการจัดงาน Expo 2028
ขณะที่ส่วนต่อขยายของโครงการนี้ คือ ช่วงเมืองใหม่ - เกาะแก้ว - กะทู้ อยู่ระหว่างทบทวนผลการศึกษาเดิมที่ทำไว้โดยกรมทางหลวง (ทล.) เพราะโครงการนี้เป็น 1 ใน 5 โครงการที่ได้รับมอบมาเมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2565 คาดว่าการสรุปผลการศึกษาใหม่จะแล้วเสร็จในปลายปี 2566
สำหรับแนวเส้นทางทางด่วนกะทู้ - ป่าตอง รูปแบบเป็นทางยกระดับ 4 ช่องจราจร มีด่านเก็บค่าผ่านทาง 1 ด่าน มีอุโมงค์อยู่ในช่วงกลางของแนวเส้นทาง จุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมกับถนนพระเมตตา พื้นที่ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกยกระดับข้ามถนนพิศิษฐ์กรณีย์ จนถึงเขานาคเกิด ระยะทาง 0.9 กม. จากนั้นจะเป็นอุโมงค์ระยะทาง 1.85 กม. ลอดใต้เทิอกเขานาคเกิด เมื่อผ่านเทือกเขาไปแล้ว จะเป็นทางยกระดับ ระยะทาง 1.23 กม. ไปสิ้นสุดบริเวณจุดตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029 (ถนนพระบารมี)
ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี (พฤษภาคม 2565 - กรกฎาคม 2570) โดยจะดำเนินการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ในรูปแบบ PPP Net Cost คือ ภาครัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และภาคเอกชนรับผิดชอบงานส่วนที่เหลือทั้งหมด โดยเอกชนจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ลงทุนทั้งหมดให้แก่ภาครัฐก่อนเริ่มดำเนินงานในลักษณะของ Build - Transfer - Operate (BTO) พร้อมทั้งให้เอกชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รายได้ค่าผ่านทาง
ทั้งนี้ กรรมสิทธิ์ในรายได้อื่น ๆ นอกจากรายได้ค่าผ่านทางไม่ได้รวมไว้ในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน เนื่องจากเมื่อได้ศึกษาเปรียบเทียบความคุ้มค่าทางการเงินของรัฐในกรณีการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนแล้ว พบว่าในรูปแบบ PPP Net Cost มีความเหมาะสมมากกว่ารูปแบบอื่น เมื่อพิจารณาจากรายได้ที่รัฐจะได้รับจากเอกชนในรูปแบบภาษีเงินได้นิติบุคคล ลดความเสี่ยงเรื่องรายได้ค่าผ่านทางกรณีไม่เป็นไปตามคาดการณ์ และภาระที่ภาครัฐต้องจ่ายผลตอบแทนให้กับเอกชน โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี
ภาพปก-ภาพประกอบ: การทางพิเศษแห่งประเทศไทย