สธ.เผย LAAB ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด กลุ่มอาการเล็กน้อย-ปานกลาง ลดป่วยหนัก-เสียชีวิตสูงถึง 88% ถ้าได้เร็วรับภายใน 3 วัน พร้อมวางแนวทางการเบิก-จัดส่งวัคซีน หลังยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long Acting Antibody : LAAB) ว่า ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขนำ LAAB หรือชื่อการค้า Evusheld มาฉีดเพื่อป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อในกลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำและร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วยวัคซีนจำนวนกว่า 6,300 ราย พบว่ามีความปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียงรุนแรง ส่วนการใช้เพื่อการรักษาเหมือนในต่างประเทศนั้น เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติขยายข้อบ่งใช้เพื่อการรักษาโรคโควิด-19 สำหรับผู้ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ในกลุ่มผู้ใหญ่และวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ที่มีน้ำหนักตัวอย่างน้อย 40 กิโลกรัม โดยใช้ขนาด 600 มิลลิกรัม และได้มีการประชุมของคณะผู้เชี่ยวชาญ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาปรับปรุงแนวทางการใช้ LAAB และกำหนดไว้ในแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคโควิด-19 ฉบับใหม่ต่อไป
“ผลการศึกษาวิจัยการใช้ LAAB ขนาด 600 มิลลิกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก และมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต พบว่า การให้เพื่อการรักษาภายใน 5-7 วันหลังมีอาการ สามารถลดการเกิดโรครุนแรงหรือเสียชีวิตได้ 50-67% และสูงถึง 88% ถ้าได้เร็วรับภายใน 3 วันหลังเริ่มมีอาการ จึงเป็นข้อสนับสนุนในการนำภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปมาใช้เพื่อการรักษาอีกทางหนึ่ง” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า วันนี้ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรมควบคุมโรค ได้หารือถึงการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 และ LAAB หลังปรับลดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง
โดยมีแนวทางในการเบิกและจัดส่ง ดังนี้
-
กรมควบคุมโรคสำรวจความต้องการวัคซีนโควิด-19 และ LAAB (รอบปกติ) เดือนละ 1 ครั้ง ทุกวันที่ 20 ของเดือน โดยเป็นการเบิกล่วงหน้าประมาณ 2 เดือน และให้จังหวัดรายงานความต้องการผ่านกองตรวจราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
-
กรมควบคุมโรคจัดส่งวัคซีนโควิด-19 และ LAAB รอบปกติ ภายในวันสุดท้ายของเดือนถัดไป
-
จังหวัดสำรองวัคซีนและ LAAB ที่มีอายุยาวอย่างน้อย 2 เดือนขึ้นไป เพื่อป้องกันการหมดอายุ เนื่องจากหลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องจัดจ้างส่งวัคซีนตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ.2560 ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการจัดส่งเพิ่มขึ้น และ
-
การขอรับสนับสนุนวัคซีนและ LAAB เพิ่มเติม (นอกรอบปกติ) กรณีเร่งด่วน ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทำหนังสือถึงกรมควบคุมโรค ระบุชนิดและจำนวน รวมถึงวันเวลาที่ต้องการรับ และมารับที่คลังวัคซีนกรมควบคุมโรคโดยตรง ส่วนกรณีที่มีวัคซีนสำรองอยู่ในจังหวัดหรือเขตสุขภาพ สามารถบริหารจัดการเกลี่ยวัคซีนที่มีอยู่ได้ตามความเหมาะสม ซึ่งหากเป็น LAAB จะใช้เวลาเตรียมการจัดส่งประมาณ 5 วัน