สธ.ย้ำวัคซีนโควิดยังจำเป็นต้องฉีดกระตุ้นต่อเนื่อง เหตุภูมิฯ จะลดลงตามเวลา โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 -เด็กเล็ก 6 เดือน - 4 ปี ตั้งเป้าเร่งรัดฉีดให้ได้ไม่น้อยกว่า 2 ล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2565 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น ผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยอาการหนักใส่ท่อช่วยหายใจ รวมถึงผู้เสียชีวิต ค่อยๆ ลดลง ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานเกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนและบางส่วนติดเชื้อตามธรรมชาติ โดยข้อมูลวันที่ 28 ต.ค. 2565 มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 143.6 ล้านโดส มีผู้ที่ฉีดครบ 2 เข็ม 53.9 ล้านราย คิดเป็น 77.5 % และฉีดเข็มที่ 3 ขึ้นไป 32.3 ล้านราย คิดเป็น 46.5%
อย่างไรก็ตาม ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ที่ได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายเกิน 3-4 เดือนแล้ว จำเป็นต้องมาฉีดเข็มกระตุ้น เพราะเมื่อฉีดวัคซีนไประยะหนึ่งภูมิคุ้มกันจะลดลงตามธรรมชาติ การฉีดเข็มกระตุ้นจะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ลดการป่วยอาการหนักและเสียชีวิตได้ รวมถึงยังจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ด้วย โดยสามารถเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน
สำหรับกลุ่มเด็กเล็กอายุ 6 เดือน - 4 ปี ที่เพิ่งเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ต้องเร่งรัดการฉีด เนื่องจากมีโอกาสติดเชื้อสูงจากคนในครอบครัวที่ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน โดยช่วงที่มีการระบาดของโอมิครอนที่ผ่านมา เด็กเล็กมีการอัตราการป่วยตายสูงกว่าเด็กโตถึง 3 เท่า และในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงต้นปีหน้า คาดการณ์ว่าอาจจะมีการระบาดในต่างประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มักเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ประกอบกับขณะนี้ประเทศไทยได้เปิดรับนักท่องเที่ยวตามปกติแล้ว ดังนั้นจึงขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองเร่งนำบุตรหลานมารับวัคซีนโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อและอาการหนักจนเสียชีวิต
ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก หัวหน้าผู้ตรวจราขการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้กำชับให้หน่วยงานสาธารณสุขทุกเขตสุขภาพเร่งสื่อสารทำความเข้าใจกับพ่อแม่ผู้ปกครองให้นำบุตรหลานมารับวัคซีน รวมทั้งเร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ทุกกลุ่มเป้าหมายโดยเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ฉีดเข็มกระตุ้นครอบคลุมเพียง 46.5% โดยเดินหน้าจัดกิจกรรม 'สัปดาห์แห่งการฉีดวัคซีน' ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายเชิญชวน ค้นหา ติดตามคนที่ยังไม่ได้ฉีด รวมทั้งจัดการอำนวยความสะดวกแก่ผู้รับวัคซีนให้มากที่สุด เช่น บริการฉีดวัคซีนถึงบ้าน ในกลุ่มผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ซึ่งหลายจังหวัดเริ่มดำเนินการแล้ว พร้อมทั้งติดตามผลการดําเนินงานทุกสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายฉีดวัคซีนไม่น้อยกว่า 2 ล้านโดส ภายในเดือน ธ.ค. 2565