ครม.เคาะแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจระยะปี 2566-2570 กำหนดเป้าหมายตามแผนพัฒนาฯที่ 13 ด้าน ‘อาคม’ เผยมีบิ๊กโปรเจกต์ 184 โครงการ 2.9 ล้านล้านรอคิวลงทุนไว้แล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 25 ต.ค. 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2566 - 2570 เพื่อยกระดับขีดความสามารถรัฐวิสาหกิจไทยมุ่งสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
โดยเป็นกำหนดทิศทางหลักในการพัฒนารัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง (ปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจ จำนวน 52 แห่ง) ให้เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ทั้ง 13 หมุดหมาย ซึ่งรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งจะมีส่วนในการดำเนินการตามหมุดหมายที่แตกต่างกันตามบทบาทและภารกิจขององค์กร ได้แก่ (1) โครงสร้างพื้นฐาน (2) บริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน (3) กิจการที่ไม่มีเอกชนดำเนินการได้อย่างเพียงพอ (4) กิจการที่รัฐต้องควบคุม และ (5) ภารกิจเชิงส่งเสริม
ทั้งนี้ ทิศทางการพัฒนารัฐวิสาหกิจ (รายสาขา) เป็นการพิจารณาจากบทบาทและกรอบภารกิจของรัฐวิสากิจ จำนวน 9 สาขา ประกอบด้วย (1) สาขาขนส่ง การบริหารจัดการโครงข่ายคมนาคมและโลจิสติกส์ที่มุ่งเน้นการขนส่งทางราง (2) สาขาพลังงาน สนับสนุนการจัดหาพลังงานแหล่งใหม่และการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (3) สาขาสาธารณูปการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำและน้ำเสีย (4) สาขาสถาบันการเงิน สร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนอย่างทั่วถึงควบคู่ไปกับความรู้ทางการเงิน (5) สาขาสื่อสาร สนับสนุนการพัฒนาและยกระดับดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ (6) สาขาเกษตร เสริมสร้างศักยภาพทางด้านการผลิตและตลาดสินค้า (7) สาขาทรัพยากรธรรมชาติ สร้างความตระหนักในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่ชุมชนและประชาชน (8) สาขาอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม บริหารจัดการจัดการองค์กรด้วยหลักธรรมาภิบาลและเทคโนโลยีที่ทันสมัย (9) สาขาสังคมและเทคโนโลยีส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬาสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม
แย้มแผนลงทุน 2.9 ล้านล้าน 184 โครงการ
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ร่างแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ ได้กำหนดให้มีกลไกการขับเคลื่อนแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจฯ เพื่อให้แผนบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย ได้แก่ (1) กลไกการดำเนินงานในการขับเคลื่อนผ่านการดำเนินงานตามบทบาทและภารกิจ
โดยรัฐวิสาหกิจจะต้องจัดทำแผนวิสาหกิจและแผนปฏิบัติการประจำปีของรัฐวิสาหกิจที่สอดคล้องกับแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจฯ และการขับเคลื่อนผ่านแผนงาน/โครงการต่าง ๆ ของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งกระทรวงเจ้าสังกัดและรัฐวิสาหกิจต้องจัดลำดับความสำคัญของแผนงาน/โครงการที่จะส่งผลต่อความสำเร็จตามตัวชี้วัดในช่วงระยะเวลาของแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ
(2) กลไกการบูรณาการ โดยมีเป้าหมายในการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานในด้านต่าง ๆ เช่น ระหว่างกระทรวง รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ (3) กลไกในการติดตามการดำเนินงานและการประเมินผล เป็นการติดตามและรายงานผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจฯ
เมื่อครบกำหนดสามปี การกำกับติดตามการดำเนินงานตามแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจฯ ของกระทรวงเจ้าสังกัด และการติดตามและรายงานผลการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการประจำปีของรัฐวิสาหกิจ ผ่านระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
ทั้งนี้ ภายใต้ร่างแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจฯ มีจำนวนโครงการ/แผนงานลงทุนไม่น้อยกว่า 184 โครงการ มูลค่าประมาณ 2.9 ล้านล้านบาท ครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การขยายเส้นทางทางถนนและทางราง เพื่อเชื่อมต่อระหว่างเมืองและในเมือง การพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น พัฒนาท่าเรือขนส่งสินค้า
การพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการขนส่งทางน้ำ การขยายระบบส่งไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่ห่างไกลและเกาะต่าง ๆ การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การสร้าง EV Charging Station การขยายบริการน้ำประปาให้ทั่วถึงและเพียงพอ และการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพ SMEs เป็นต้น