กสม.เสนอให้กลไกในระดับภูมิภาคด้านสิทธิมนุษยชนทำหน้าที่ทั้งด้านส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ครอบคลุมและปิดช่องว่างประเด็นสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2565 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ สำนักงาน กสม. ได้เข้าร่วมการอภิปรายโต๊ะกลมระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคและระดับชาติในอาเซียนและสหภาพยุโรป (Roundtable Discussion between Regional and National Human Rights Institutions in ASEAN and EU) ภายใต้การประชุมหารือทางนโยบายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของอาเซียนและสหภาพยุโรป ครั้งที่ 4 (4th ASEAN - EU Policy Dialogue on Human Rights) ระหว่างวันที่ 24-26 ตุลาคม 2565 ณ สำนักงานเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย จัดโดยคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) ร่วมกับสหภาพยุโรป (EU)
ซึ่งการอภิปรายในครั้งนี้ได้มีการหารือเกี่ยวกับการประกันการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับทุกคนและบทบาทของกลไกสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับภูมิภาคและระดับชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติที่ดี ข้อท้าทาย และมุมมองความร่วมมือระหว่างกลไกสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคและระดับชาติภายในอาเซียน โดยผู้เข้าร่วมการอภิปราย ประกอบด้วย ผู้แทนสมาชิกอาเซียนใน AICHR และ ACWC ผู้แทนสหภาพยุโรป และผู้แทนสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคอาเซียนและสหภาพยุโรป โดยมีผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคม เยาวชน และนักวิชาการร่วมรับฟังและอภิปรายในที่ประชุม
ในการนี้ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เน้นย้ำบทบาทและความสำคัญของกลไกการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนที่เป็นอิสระทั้งในระดับภูมิภาคและระดับชาติ ซึ่งที่ผ่านมา AICHR ถือเป็นกลไกสำคัญในภูมิภาคในด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ทำให้อาเซียนมีเวทีประจำอย่างเป็นทางการในการหารือในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่มีความหลากหลาย ขณะที่สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งเป็นอิสระตามหลักการปารีสนั้น มีหน้าที่ทั้งในด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ
“การมีสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เป็นอิสระและมีความเข้มแข็งมีความสำคัญต่อความยุติธรรมภายในประเทศในด้านสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันกลไกในระดับภูมิภาคที่เป็นอิสระและมีความเข้มแข็งก็สำคัญ และจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน” นายวสันต์กล่าว
และสนับสนุนให้ AICHR มีหน้าที่และอำนาจในด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และทำงานทั้งในด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาค ซึ่งจะทำให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคมีความครอบคลุมและปิดช่องว่างประเด็นสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน