‘ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ’ พิพากษายกฟ้อง คดี ‘กลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน’ ขอให้เพิกถอนเครื่องหมาย ‘ฮาลาล’ เหตุไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ว่า ขัดต่อความสงบเรียบร้อย-ศีลธรรมอันดีของประชาชน
.......................................
เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ทป 195/2562 คดีหมายเลขแดงที่ ทป 223/2565 ซึ่งเป็นคดีที่นายจรูญ วรรณกสิณานนท์ ตัวแทนกลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน (โจทก์) ยื่นฟ้องกรมทรัพย์สินทางปัญญา (จำเลย) และสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (จำเลยร่วม) ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรอง ‘ฮาลาล’
โดยคดีนี้ศาลฯพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้ขอให้จำเลยวินิจฉัยว่า ผู้ได้รับเครื่องหมายการค้าได้ปฏิบัติตามมาตรา 62, 63, 68, 82, 83 หรือไม่ การที่โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลภายหลังจากที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งไม่เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าฮาลาล จึงเป็นการอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 65 วรรคสอง
การพิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของโจทก์ จึงต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำขอให้เพิกถอนเครื่องหมายรับรอง โจทก์อ้างเหตุในการขอให้เพิกถอนว่า หลังจากจำเลยร่วมได้รับการจดทะเบียนจากนายทะเบียนแล้ว ได้ดำเนินการหลายอันขัดต่อกฎหมาย ไม่เป็นไปตามระเบียบที่กฎหมายบัญญัติไว้ และขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ดังนั้น การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะพิจารณาว่า จะเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรอง ‘ฮาลาล’ เพราะไม่เป็นไปตามระเบียบที่กฎหมายบัญญัติไว้ และขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามคำร้องหรือไม่นั้น โจทก์ต้องแสดงให้ได้ว่าเครื่องหมายรับรอง ‘ฮาลาล’ เป็นเครื่องหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบาย ตามมาตรา 62 ประกอบมาตรา 81
และเหตุผลที่ยกขึ้นอ้างกับพยานหลักฐานที่พิสูจน์ข้อเท็จจริง ก็ต้องเป็นเหตุผล และพยานหลักฐานที่พิสูจน์ว่าเครื่องหมายรับรอง ‘ฮาลาล’ เป็นเครื่องหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบาย ซึ่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ได้กำหนดว่าเป็นลักษณะที่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนไว้ตามมาตรา 8 (9)
และการพิจารณาว่า เครื่องหมายใดมีลักษณะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามบทบัญญัติมาตรานี้ ต้องพิจารณาจากลักษณะที่ปรากฏอยู่ในตัวเครื่องหมายนั้นเอง กล่าวคือ ต้องพิจารณาจากลักษณะที่ปรากฏอยู่ในเครื่องหมายที่เป็นภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปร่าง หรือรูปทรงของวัตถุนั้นเองว่า มีลักษณะเป็นเครื่องหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบายอยู่ในตัวเครื่องหมายนั้นเองหรือไม่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง
คือ ลักษณะที่ปรากฏอยู่ที่ตัวเครื่องหมายทำให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นได้อย่างแจ้งชัดว่าเป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือขัดต่อรัฐประศาสโนบาย บทบัญญัติมาตรา 8 นี้ มิได้บัญญัติให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องพิจารณาว่า ผู้ขอจดทะเบียนนำเครื่องหมายไปใช้โดยชอบหรือไม่
คำร้องขอให้เพิกถอนเครื่องหมายรับรอง ‘ฮาลาล’ ที่โจทก์ยื่นต่อคณะกรรมการ ก็ไม่มีข้อความและเหตุผลที่แสดงให้เห็นว่าเครื่องหมายรับรอง ‘ฮาลาล’ มีรูปลักษณ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือนำเครื่องหมายมาจดทะเบียนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายที่รับรองสิทธิ์ในเรื่องอื่นไว้อย่างไร จึงเป็นการขัดต่อรัฐประศาสโนบาย
ที่โจทก์เบิกความว่า จำเลยรับจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองฮาลาล ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์และมีคำว่าอิสลามได้ จึงเป็นการไม่ชอบ เป็นความคิดเห็นของโจทก์ที่ไม่มีหลักฐานแสดงว่าเครื่องหมายที่เป็นตัวอักษรอาหรับ ที่อ่านว่า “ฮาลาล” เป็นสัญลักษณ์ของศาสนาอิสลาม และคำว่า “THE ISLAMIC COMMITTEE OFFICE OF THAILAND” ก็เป็นชื่อของจำเลยร่วมที่สามารถนำมาใช้เป็นองค์ประกอบของเครื่องหมายรับรองได้
และการพิจารณาว่าเครื่องหมายที่ขอจดทะเบียนมีลักษณะที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ จะพิจารณาจากเครื่องหมายนั้นๆ ว่ามีรูปลักษณะหรือความหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่
ส่วนที่โจทก์นำสืบและอ้างพยานหลักฐาน ทั้งที่เป็นเอกสาร วัตถุสิ่งของ ภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหวหรือภาพวิดีโอ มีข้อเท็จจริงเพียงว่าโจทก์หรือบุคคลอื่นใดเป็นผู้พบเห็นเครื่องหมายรับรอง ‘ฮาลาล’ ที่แสดงบนผลิตภัณฑ์สินค้า หรือมีผู้กล่าวถึงเครื่องหมายรับรอง ‘ฮาลาล’ และจำเลยร่วมมีการดำเนินการเกี่ยวกับเครื่องหมายรับรอง ‘ฮาลาล’ อย่างไร และเป็นเรื่องที่บุคคลอื่นถ่ายทอดหรือนำเสนอ ซึ่งเป็นพยานบอกเล่าที่ไม่สามารถตรวจสอบยืนยันได้ว่าเป็นความจริงที่ถูกต้อง
อีกทั้งไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ว่า เครื่องหมายรับรอง ‘ฮาลาล’ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบายตามมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ว่าโจทก์เกี่ยวข้องกับสินค้าและเครื่องหมายรับรองใด และการที่จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายรับรอง ‘ฮาลาล’ เป็นการโต้แย้งกับสิทธิในสินค้าหรือเครื่องหมายรับรองที่โจทก์เกี่ยวข้องด้วยอย่างไร
จึงยกอ้างได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 63 และมาตรา 63 ก็บัญญัติความหมายไว้ชัดเจนว่า เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นไม่เคยมีการใช้เครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้เลย หมายถึง จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้โดยตั้งใจที่จะไม่ใช้กับสินค้า จึงเป็นการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยไม่สุจริต แต่จำเลยร่วมได้อนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรอง ‘ฮาลาล’ กับสินค้าของบุคคลอื่น จึงไม่ใช่เรื่องที่จำเลยร่วมจดทะเบียนเครื่องหมายรับรอง ‘ฮาลาล’ โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรานี้
ส่วนที่โจทก์อ้างมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัตินี้ บทบัญญัติดังกล่าวหมายถึง การที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าจะอนุญาตให้บุคคลใดใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วของตน และได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าด้วย นั้น จะต้องจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ส่วนการโต้แย้งคำสั่งนายทะเบียนเป็นสิทธิ์เฉพาะตัวของเจ้าของเครื่องหมายการค้า และผู้ขอจดทะเบียน
และมาตรา 82 กับมาตรา 83 เป็นขั้นตอนของการขอจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองและกฎหมาย ไม่ได้ให้สิทธิแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่จะคัดค้านคำสั่งของนายทะเบียน และสัญญาอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้าตามมาตรา 68 ก็ไม่ใช้กับการอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายรับรองตามมาตรา 91 โจทก์มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อบทบัญญัติมาตรา 8 มาตรา 62 มาตรา 63 มาตรา 65 มาตรา 68 มาตรา 82 และมาตรา 83 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
และกล่าวอ้างเหตุผลในคำขอให้เพิกถอนเครื่องหมายรับรองต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและคำฟ้องที่อุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการดังกล่าว กับนำสืบหลักฐานที่พิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่การพิสูจน์ว่าเครื่องหมายรับรอง ‘ฮาลาล’ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย ตามมาตรา 62 หรือจำเลยร่วมมิได้ตั้งใจโดยสุจริตที่จะใช้เครื่องหมายรับรอง ‘ฮาลาล’ ตามมาตรา 63
ในการที่โจทก์ยื่นคำขอให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณา และมีคำสั่งเพิกถอนหรือไม่เพิกถอนเครื่องหมายตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง อีกทั้งพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบในการพิจารณาคดีของศาล ก็ไม่ใช่เพื่อการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าเครื่องหมายรับรอง ‘ฮาลาล’ เป็นเครื่องหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย
นอกจากนี้ การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ กลาง มีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ประกอบข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ที่บัญญัติให้ศาลและคู่ความทุกฝ่ายต้องปฏิบัติ คู่ความจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามด้วยความเคารพต่อกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน
เพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายและไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกันในทางคดี แต่โจทก์อ้างพยานหลักฐานหลายลำดับที่ไม่ได้ระบุรายการไว้ในบัญชีระบุพยานและเป็นพยานหลักฐานที่ฟุ่มเฟือยไม่เกี่ยวกับประเด็นในคดี จึงเป็นพยานหลักฐานที่ห้ามมิให้รับฟัง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (1) (2) ประกอบมาตรา 88 อีกด้วย
พิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้ว เหตุผลที่ปรากฏในคำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 73/2562 เป็นการวินิจฉัยภายในกรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้บัญญัติไว้ คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องมีข้อเท็จจริงเรื่องอื่นๆ ไม่ใช่ข้ออ้างเกี่ยวกับประเด็นว่าเครื่องหมายรับรอง ‘ฮาลาล’ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย
อันจะอาศัยสิทธิอุทธรณ์คำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าโดยการฟ้องคดีต่อศาลตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 65 วรรคสอง หากจำเลยร่วมได้มีการดำเนินการเกี่ยวกับเครื่องหมายรับรอง ‘ฮาลาล’ แล้วไปกระทบสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ใด ก็เป็นเรื่องของผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิต้องไปว่ากล่าวกันต่างหาก ไม่ใช่เรื่องที่โจทก์จะฟ้องปะปนมาเป็นคดีนี้ ศาลไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
สำหรับคดีนี้ โจทก์ (นายจรูญ) ฟ้องว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองฮาลาล โดยอ้างเหตุผลว่า คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ขอจดเครื่องหมายรับรองกับสินค้า 30 รายการ หลังจากที่ได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองฮาลาล ได้ดำเนินการอันขัดต่อกฎหมายที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ ขัดต่อความสงบสุข ความเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
กล่าวคือ การรับรองเครื่องหมายดังกล่าวมิได้ดำเนินการโดยสุจริตใจ เพราะคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองในสินค้าไม่กี่ประเภท แต่ได้รับรองผลิตภัณฑ์สินค้าอื่นหลายสิบรายการ การรับรองตามเครื่องหมายรับรองนั้น
คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้สมรู้ร่วมคิดกับคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ออกระเบียบการเก็บเงินฮาลาลกับผู้ประกอบการซึ่งระเบียบที่ออกมาเป็นบทเฉพาะของศาสนาอิสลาม ไม่เกี่ยวกับคนศาสนาอื่น และได้มีคำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 73/2562 เรื่อง ไม่เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ 372520 และจำเลยได้ส่งคำสั่งให้โจทก์
ทั้งนี้ โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า จากคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาและวินิจฉัยไม่เพิกถอนเครื่องหมายรับรองฮาลาลตามที่โจทก์ร้องขอ ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ที่ 73/2562 เรื่อง ไม่เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรอง คำขอเลขที่372520 และขอให้จำเลยมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรอง คำขอเลขที่ 372520
จำเลยให้การว่า จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ ดังนี้ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2541 คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนรับรองฮาลาล คำขอเลขที่ 372520 ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาคำร้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรอง ตามทะเบียนเลขที่ ร82 (คำขอเลขที่ 372520)
ประเด็นที่ 1 โจทก์มีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์อ้างว่าเครื่องหมายรับรองของผู้ได้รับจดทะเบียนขัดต่อความสงบเรียบร้อยตามมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 นั้น บุคคลใดก็มีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนได้ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองดังกล่าวได้
ประเด็นที่ 2 เครื่องหมายรับรองของผู้ได้รับจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือไม่ เห็นว่าเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างเหตุแห่งการเพิกถอนนี้เกิดจากผู้ได้รับจดทะเบียนใช้เครื่องหมายรับรองดังกล่าวไม่ตรงกับรายการสินค้าที่จดทะเบียนไว้หรือใช้ไปฟ้องร้องบริษัทต่างๆ หรือไม่ได้นำไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียน หรือใช้โดยไม่มีอำนาจ หรือใช้โดยไม่มีมาตรฐานในการรับรองสินค้า หรือ เรียกค่าธรรมเนียมโดยไม่มีอำนาจ
แต่เมื่อพิจารณาเอกสารหลักฐานที่โจทก์อ้างส่งไว้ ก็เป็นเพียงเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งผลการวินิจฉัยตามที่ทางโจทก์ได้มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานรัฐอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นความเห็นของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนั้นๆ เท่านั้น จึงไม่อาจนำมาเป็นเหตุผลให้ต้องเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองของผู้ได้รับจดทะเบียนแต่อย่างใด ดังนั้น หลักฐานดังกล่าวข้างต้นจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังตามที่โจทก์กล่าวอ้างไว้แต่อย่างใด
ระหว่างพิจารณา สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ยื่นคำร้องสอดว่า ผู้ร้องสอดเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลของคดีนี้ ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วม