'ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร' พิพากษา ‘สยามโตโยต้าอุตสาหกรรม’ ชนะคดีนำเข้าชิ้นส่วนฯ ‘โรลเลอร์แบริ่ง’ หลังถูก ‘กรมศุลกากร-กรมสรรพากร’ เรียกเก็บภาษีเพิ่ม ขณะที่ ‘ศาลฎีกา’ ยกฟ้อง ‘สยามโตโยต้าอุตสาหกรรม-พวก’ คดีสำแดงเท็จ
.................................
เมื่อวันที่ 18 ต.ค. องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา โดยวิธีถ่ายทอดภาพและเสียงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไปยังศาลภาษีอากรกลาง คดีแพ่ง ระหว่าง บริษัท สยามโตโยต้าอุตสาหกรรม จำกัด โจทก์ กรมศุลกากร จำเลยที่ ๑ และกรมสรรพากร จำเลยที่ 2 ทุนทรัพย์ 188 ล้านบาทเศษ และไปยังศาลจังหวัดพัทยา ในคดีอาญาระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดพัทยา โจทก์ บริษัท สยามโตโยต้าอุตสาหกรรม จำกัด จำเลยที่ 1 และนายสุรศักดิ์ เป้ามาลา จำเลยที่ 2
โดยคดีแพ่งโจทก์ฟ้องว่า โจทก์นำเข้าสินค้าโรลเลอร์แบริ่งตามใบขนสินค้า 114 ฉบับ โดยฉบับที่นำเข้าเมื่อวันที่ 30 พ.ย.2552 ชำระอากรประเภทย่อยที่ 8482.50.00 ยกเว้นอัตราอากร ส่วนการนำเข้าในปี 2548 ถึงปี 2552 จำนวน 113ฉบับ ชำระอากรอัตราอากรร้อยละ 1 แต่เจ้าพนักงานและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลย เห็นว่าโจทก์สำแดงสินค้าเป็นเท็จ สินค้าจัดอยู่ในประเภทย่อย 8708.99.99 อัตราอากรร้อยละ 30 โจทก์ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงาน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาแก้เป็นว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบกับให้เรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้า โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า โจทก์นำเข้าสินค้าโดยมีเจตนาเพื่อใช้กับสินค้าข้อต่อกากบาทโดยต้องนำชิ้นส่วนทั้งสองประกอบเข้าด้วยกัน โรลเลอร์แบริ่งรูปเข็ม 4 ชิ้นต่อข้อต่อกากบาท 1 ชิ้น และนำไปประกอบกับชิ้นส่วนภายในประเทศเพื่อผลิตเป็นข้อต่ออ่อน จึงมีลักษณะเป็นสาระสำคัญของข้อต่ออ่อนและอยู่ในฐานะข้อต่ออ่อนที่ยังไม่ครบสมบูรณ์จัดอยู่ในประเภทย่อย 8708.99 ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร ข้อ 1 ข้อ 2 (ก) และ ข้อ 6 ในภาค 1 ท้าย พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530
แต่สินค้าที่โจทก์นำเข้าระหว่างวันที่ 16 ธ.ค.2547 ถึงวันที่ 17 ต.ค.2548 ตามใบขนสินค้า 18 ฉบับ ซึ่งนับแต่วันนำเข้าดังกล่าวจนถึงวันที่โจทก์ได้รับแบบแจ้งการประเมินในวันที่ 20 ต.ค.2558 เป็นการแจ้งการประเมินเกินกำหนดอายุความ 10 ปีนับจากวันที่นำของเข้า การประเมินอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าทั้ง 18 ฉบับดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์เข้าใจโดยสุจริตว่าสินค้าพิพาทจัดอยู่ในประเภทพิกัดตามที่สำแดง ความรับผิดของโจทก์ในการชำระค่าอากรขาดไม่ได้เกิดจากการสำแดงเท็จ โจทก์ไม่ต้องรับผิดในเงินเพิ่มอากรขาเข้า
พิพากษาแก้ให้เพิกถอนการประเมินอากรขาเข้าตามใบขนสินค้า 18 ฉบับ แต่ไม่เพิกถอนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่เรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้า
ส่วนคดีอาญาโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานสำแดงเท็จ จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลจังหวัดพัทยาพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งสอง พิพากษายืน