ครม.เคาะ 16-18 พ.ย. 65 หยุดพิเศษเฉพาะ กทม.-นนท์-สมุทรปราการ เนื่องในโอกาสประชุมเอเปกระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 5 ตุลาคม 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษในเขตกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย. 2565 ในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจร อำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้เข้าร่วมการประชุม รวมทั้งเพื่อให้การอารักขาและการรักษาความปลอดภัยผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพสูงสุด
ในส่วนของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นควรให้ช่วงวันดังกล่าวเป็นวันทำการตามปกติ โดยจะขอความร่วมมือ ให้หน่วยงานที่ไม่ได้ให้บริการประชาชนหรือไม่ใช่ ส่วนงานที่มีความสําคัญต่อระบบสถาบันการเงิน (critical function) ซึ่งหากมีการหยุดชะงักอาจส่งผลกระทบต่อการดําเนินงาน เน้นการทำงานที่บ้าน (WFH) ขณะที่ รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง ภาคเอกชน และกระทรวงแรงงาน ให้พิจารณาความเหมาะสม โดยไม่ให้เกิดความเสียหายต่อราชการ หรือกระทบต่อการให้บริการประชาชน
นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 29 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร โดยกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 - 19 พฤศจิกายน 2565 ดังนี้ วันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2565 เป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส วันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี และ วันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 เป็นการประชุมผู้นำและกิจกรรมคู่สมรส
ทั้งนี้ จะมีผู้นำและคู่สมรส ผู้แทนจากเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคจำนวน 20 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป สหรัฐอเมริกา และเวียดนามเข้าร่วม รวมถึงสำนักเลขาธิการเอเปค ผู้สังเกตการณ์ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) สภาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภาคพื้นแปซิฟิก (Pacific Economic Cooperation Council - PECC) และกรอบการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก (Pacific Islands Forum - PIF) รวมถึงเขตเศรษฐกิจและองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมในฐานะแขกของเจ้าภาพด้วย จึงขอเชิญชวนคนไทยร่วมกันเป็นเจ้าภาพที่ดีต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย