‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ เตรียมยื่นหนังสือต่อ ‘ประธาน กสทช.’ ขอให้สอบสวน ‘ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล’ เหตุให้ข่าวควบรวม TRUE-DTAC ‘ผิดพลาด-ทำให้เกิดความเข้าใจผิด’ พร้อมเรียกร้อง ‘กสทช.’ ให้คำตอบกรณีจ้าง ‘ที่ปรึกษาอิสระ’ ที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน
.....................................
เมื่อวันที่ 22 ก.ย. น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (23 ก.ย.) สอบ.และเครือข่ายฯ จะไปยื่นหนังสือถึงประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขอให้สอบสวนนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ที่ออกมาให้ข่าวกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ซึ่งเป็นให้ข้อมูลที่ผิดพลาด
“ที่ (รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.) บอกว่า กฎหมายรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมตามประกาศ กสทช. ปี 2553 ที่กำหนดให้การรวมธุรกิจต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช. นั้น ได้ถูกยกเลิกแล้ว โดยมีประกาศ กสทช. ปี 2561 ขึ้นมาแทน ซึ่งกำหนดให้การรวมธุรกิจกระทำได้ โดยจัดทำรายงานส่งให้ กสทช. เท่านั้น โดย กสทช.มีอำนาจเพียงกำหนดมาตรการหรือเงื่อนไขเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งการให้ข้อมูลในกรณีนี้ เป็นการทำให้เกิดความเข้าใจผิด
และทำให้คิดว่ากฤษฎีกาตีความว่า การวินิจฉัยควบรวมธุรกิจครั้งนี้ ไม่ได้เป็นอำนาจของ กสทช. เราจึงจะไปยื่นหนังสือต่อประธาน กสทช. และคณะกรรมการ กสทช. ให้สอบสวนนายไตรรัตน์ และที่เราต้องทำแบบนี้ ก็เพราะก่อนหน้านี้ มีการเผยแพร่ข้อมูล ข้อเท็จจริงของ กสทช. 5 ประการ ซึ่งแม้ว่าเมื่อเผยแพร่ไปแล้ว ประธาน กสทช. และสำนักงาน กสทช. จะสั่งให้ถอดออกแล้ว แต่ข้อมูลเท็จและข้อมูลที่ไม่เป็นจริงเหล่านี้ ยังถูกเผยแพร่อยู่ในสื่อสาธารณะทั่วไป” น.ส.สารี กล่าว
น.ส.สารี กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีความพยายามจากหลายส่วนที่จะทำให้การควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC มีความเป็นได้ โดยการกำหนดมาตรการเฉพาะออกมา แต่เมื่อพิจารณามาตรการเฉพาะดังกล่าวแล้ว พบว่าเป็นมาตรการที่อ่อนยวบและไม่มีความหมาย เช่น การห้ามไม่ให้บริษัทลูกของทั้ง 2 บริษัท ควบรวมกันภายใน 3 ปี หรือการกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค 14 มาตรการ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภคเลย
ดังนั้น สอบ. ในฐานะตัวแทนของผู้บริโภค จึงอยากให้ กสทช. นำมาตรการเฉพาะดังกล่าว มาเปิดรับฟังความคิดเห็น ก่อนที่ กสทช. จะนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจว่าจะอนุญาตให้มีการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC หรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว อาจทำให้มองได้ว่าการใช้ดุลพินิจของ กสทช. มีปัญหาหรือไม่
น.ส.สารี ยังเรียกร้องให้ กสทช. ให้ข้อเท็จจริง กรณีที่สำนักงาน กสทช. ว่าจ้างบริษัท หลักทรัพย์ฟินันซ่า จำกัด เป็นที่ปรึกษาอิสระเพื่อศึกษากรณีการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC แต่ปรากฏข้อมูลว่าบริษัทที่ปรึกษาอิสระดังกล่าวมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทที่ขออนุญาตควบรวมกิจการ เนื่องจากบริษัทที่ปรึกษาอิสระดังกล่าว มีผู้ถือหุ้นเป็นผู้บริการระดับสูงของ TRUE ซึ่งหากเรื่องดังกล่าวเป็นความจริง ก็จะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
“กสทช. ต้องออกมาดำเนินการตรวจสอบกรณีบริษัท หลักทรัพย์ฟินันซ่า ว่า มีผู้ถือหุ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัท TRUE จริงหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งหากเป็นจริงก็ต้องจัดการ และเรื่องนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถใช้รายงานที่ปรึกษาชิ้นนี้ได้ รวมทั้งต้องมีคนรับผิดชอบหากมีการอนุญาตให้ใช้รายงานชิ้นนี้” น.ส.สารี ระบุ
น.ส.สารี ย้ำว่า สอบ.และเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภค ไม่เห็นด้วยกับการควบรวม TRUE และ DTAC เพราะแม้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาบอกว่า กสทช. ต้องทำให้ได้สัดส่วนระหว่างการพัฒนากิจการโทรคมนาคม และการคุ้มครองผู้บริโภคหรือการรักษาประโยชน์สาธารณะ แต่หากไปพิจารณามาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า กสทช. มีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค กำกับกิจการให้เกิดการแข่งขัน และลดการผูกขาด
“วันนี้เราอาจไม่ได้ควักจากกระเป๋าของเรา เพราะยังไม่มีการควบรวม แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการควบรวม จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคทันที” น.ส.สารี กล่าว
น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า เครือข่ายองค์กรของผู้บริโภค มีความกังวลว่า หากมีการอนุญาตให้ควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC จะทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ เพราะทุกวันนี้ธุรกิจโทรศัพท์มือถือมีผู้ให้บริการรายใหญ่ 3 ราย ซึ่งทุกรายต้องแข่งขันทั้งในด้านราคาและการพัฒนาระบบให้ทันสมัย เพื่อให้เป็นผู้นำ แต่หากมีการควบรวมและทำให้เหลือผู้ให้บริการ 2 รายใหญ่แล้ว การแข่งขันในด้านต่างๆก็จะลดน้อยลง
“การทำให้ทางเลือกลดน้อยลง ก็จะทำให้การแข่งขันในการพัฒนาระบบลดลงไป และการแข่งขันกันเรื่องการลดราคาเพื่อแย่งชิงลูกค้าก็จะหมดไปด้วย ถ้าไม่มีพวกนี้ และถ้าเหลือน้อยเจ้า หรือเหลือแค่ 2 เจ้า เขาอาจฮั้วกันและไม่แข่งขันก็ได้” น.ส.บุญยืน กล่าว
ก่อนหน้านี้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ระบุว่า กรณีที่ปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อมวลชนเกี่ยวกับหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ตอบกลับข้อกฎหมายกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC นั้น ยืนยันว่า สำนักงานฯ ไม่ได้มีการส่งข่าวและเปิดเผยรายละเอียดของหนังสือดังกล่าวไปยังสื่อมวลชน
มีแต่เพียงสื่อมวลชนบางสำนักได้โทรศัพท์มาสอบถาม ซึ่งได้ตอบไปว่า “มีหนังสือตอบมาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานฯจะต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการทุกท่านให้รับทราบต่อไป”