สธ.พบผู้ป่วยโควิดอายุ 105 ปี ไม่มีประวัติรับวัคซีน แต่รักษาด้วยการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB ก่อนหายดีภายใน 2 สัปดาห์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่ประเทศไทยจัดหาภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือ Long Acting Antibody (LAAB) เพื่อใช้ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโควิดในกลุ่มที่ยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกนได้ด้วยการฉีดวัคซีน รวมถึงกลุ่ม 608 เช่น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการฟอกไต ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะหรือไขกระดูกที่ได้รับยากดภูมิ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งกลุ่มนี้หากติดเชื้ออาจเสี่ยงเกิดอาการป่วยรุนแรงหรือมีโอกาสเสียชีวิตสูง โดยไทยได้นำเข้า LAAB และเริ่มดำเนินการฉีดให้กับกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่เดือน ก.ค.2565
นพ.โอกาส กล่าวว่า เมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโควิดรายหนึ่ง อายุ 105 ปี และยังไม่เคยฉีดวัคซีนโควิด โดยได้นำตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลตั้งแต่ 3 ก.ย.2565 มีอาการไข้สูง มีเสมหะ ค่าออกซิเจนในเลือดต่ำ และต่อมามีปอดติดเชื้อแบคทีเรีย โดยผู้ป่วยรายนี้ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสในวันแรก แต่เนื่องจากมีอายุมากเสี่ยงต่อการเสียชีวิต แพทย์จึงพิจารณาให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB ร่วมกับยาปฏิชีวนะ และพบว่าอาการผู้ป่วยค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ อาการปอดติดเชื้อน้อยลง ไข้ลดลง ค่าออกซิเจนในเลือดกลับมาปกติ และผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้วันที่ 14 ก.ย.2565 รวมระยะเวลาที่ใช้รักษาน้อยกว่า 2 สัปดาห์
นพ.โอกาส กล่าวอีกว่า การให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือ LAAB น่าจะมีผลดีในการรักษาผู้ป่วยสูงอายุกลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขยังเน้นย้ำแนะนำให้ผู้สูงอายุทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดโดยเร็วก่อนจะเกิดการติดเชื้อ
สำหรับการทำงานของภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือ LAAB จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในผู้ที่ตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าคนทั่วไป เมื่อฉีดเข้าไปแล้วร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิดได้สูงทันทีภายหลังฉีด ซึ่งในต่างประเทศมีการขึ้นทะเบียนใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB ในการรักษาผู้ป่วยโควิดกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วย เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น