‘ชัชชาติ’ ถกนักธุรกิจริมเจ้าพระยา สบช่องฟื้นโปรเจ็กต์ ‘ทางเดินริมน้ำเจ้าพระยา’ ชี้เพื่อความเหมาะต้องลดขนาดลงเหลือ 2-3 เมตร จากเดิมออกแบบไว้ 10 เมตร เผยแนวทางให้เอกชนลงทุนก่อสร้างเป็นเรื่องดี ’
ผู้สื่อข่าวรานงานว่า วันที่ 16 กันยายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า การประชุมร่วมกับสมาคมการค้าธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อร่วมกันหารือถึงนวทางในการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีการหารือกันใน 3 ประเด็น
1. การจัดงาน Lighting Festival หรือเทศกาลแสดงไฟริมแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วเชื่อมต่อไปยังคูคลองต่างๆ เช่น คลองผดุงกรุงเกษม, คลองโอ่งอ่าง, คลองบางลำพู จนเลยไปถึงสถานที่สำคัญต่างๆด้วย เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว
2. การเชื่อมโยงคลองจากฝั่งธนบุรีและแม่น้ำเจ้าพระยา ประเด็นหลักๆคือ ประตูระบายน้ำ ที่ต้องกำกับการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ เพื่อให้เรือผ่าน บางทีนักท่องเที่ยวต้องมารอให้ประตูระบายน้ำเปิดปิด ซึ่งใช้เวลานาน 30-40 นาที ก็อาจจะประสานให้เรือที่ผ่านประตูระบายน้ำ ทำได้คล่องตัวขึ้น
และ 3. การเชื่อมการเดินทาง ‘รถ-เรือ-ราง’ มีหลายจุดที่มีรถไฟฟ้าพาดผ่าน ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีเขียว, สายสีม่วง และสายสีน้ำเงิน ก็ต้องมาคิดว่า การนำประชาชนจากริมน้ำมาเข้าระบบ เพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง จะทำกันอย่างไรให้สะดวกขึ้น ก็รับไปพิจารณาทั้งหมด
นอกจากนี้ มีการพูดคุยถึงการนำพื้นที่ริมน้ำที่ว่างอยู่ เช่น แถวพระราม 7 มาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว, สวนสาธารณะ, ที่จอดเรือยอร์ช เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องศึกษาผลกระทบต่างๆให้รอบด้านที่สุด
นายชัชชาติ เปิดเผยอีกว่า และประเด็นสำคัญที่มีการพูดคุยกันก็คือ การพิจารณาทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยความเห็นที่มีร่วมกัน จะไม่ทำเป็นทางเดินขนาดใหญ่ รูปแบบที่เห็นร่วมกันคือ เป็นทางเดินขนาด 2-3 เมตร เท่านั้น ไม่ทำขนาดใหญ่แบบที่เคยวางแผนเดิม เพราะที่ผ่านมา ประชาชนเข้าุถึงพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยายาก อาจจะมีทางเดินเล็กๆ ลักษณะเหมือนหน้าวัดกัลยาณมิตรที่เชื่อมต่อไปยังชุมชนกุฎีจีน เพราะกทม.กับแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นของคู่กัน
“เมืองกับธุรกิจก็เป็นของคู่กัน เราต้องฟังนักธุรกิจเยอะๆ เพราะเขาก็สร้างงาน จ่ายรายได้ จ่ายภาษี และเขารู้ปัญหาเยอะมากกว่าเรา เราเป็นฝ่ายถือกฎ และอาจจะไม่เข้าใจในบางสิ่งบางอย่าง ก็ต้องมารับฟังผู้ประกอบการบ้าง” นายชัชชาติกล่าว
ทางเดินบริเวณหน้าวัดกัลยาณมิตร
ผู้สื่อข่าวถามว่า หมายความว่าทางผู้ประกอบการอยากให้ปัดฝุ่นโครงการนี้ขึ้นมาอีกครั้งใช่หรือไม่ นายชัชชาติตอบว่า เขาไม่อยากให้โครงการใหญ่โตเกินไป เพราะหากทำขนาดใหญ๋เกรงว่า จะกีดขวางทางน้ำได้ ขนาด 2-3 เมตรกำลังพอดี ไม่ใหญ่มาก ซึ่งกทม.ก็รับตรงนี้ไป ต่อไปก็ต้องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่า และกรมชลประทาน เป็นต้น
เมื่อถามอีกว่า แสดงว่าในยุคนี้ จะหยิบโครงการนี้มาพิจารณาอีกรอบใช่หรือไม่ นายชัชชาติ ตอบว่า แบบเดิมมันใหญ่โตเกินไป จริงๆโครงการนี้ก็จำเป็น แต่อยากให้เล็กลงมาและตอบโจทย์ชุมชนมากขึ้น เพื่อเชื่อมโยงการเดินของนักท่องเที่ยวและคนในชุมชน อย่างในเขตคลองสาน หากมีทางเดินนี้ก็เดินมาเยาวราชง่ายขึ้น เพราะอนาคตเมืองที่เดินได้ คือเมืองที่น่าสนใจ
ช่วงท้าย ผู้สื่อข่าวถามว่า กำหนดกรอบเวลาศึกษาโครงการนี้อย่างไร นายชัชชาติ ตอบว่า เบื้องต้น จะไม่ออกแบบเป็นโครงการใหญ่ ไม่ทำแบบตลอดแนว จะมีเป็นช่วงๆไป บางช่วงเลี้ยวเข้าชุมชนบ้าง เพราะมีบางช่วงก็ไม่เหมาะที่จะทำทางเดินตลอดแนว และทำพร้อมไปกับการปรับปรุงไฟส่องสว่าง เพื่อเพิ่มความปลอดภัย
ส่วนนักธุรกิจที่มาคุยวันนี้ มีการพูดถึงการลงทุนให้กทม.หรือยัง นายชัชชาติตอบว่า แล้วแต่ทางนักธุรกิจ แต่ทุกอย่างยังเป็นไปได้ ก็ถือเป็นแนวทางที่น่าสนใจที่จะให้ทางเอกชนเข้ามาลงทุนตรงนี้ เพราะไม่่ทุกเรื่องที่ กทม. จะต้องลงทุนเอง แต่ในระยะยาวต้องดูกันอีกที