13 เครือข่ายภาคประชาชน ยื่นจดหมายต่อ ส.ส.กลุ่มประเทศ EFTA ห่วงการเจรจา FTA ไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป กระทบการเข้าถึงยาของคนไทย
.................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) พร้อมด้วยองค์กรภาคีเครือข่าย รวม 13 ภาคี เข้ายื่นจดหมายต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กลุ่มประเทศสมาคมการค้าเสรียุโรป หรือ EFTA (สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) ระหว่างเยือนประเทศไทยเพื่อหารือเกี่ยวกับการเจรจา FTA ระหว่างไทยและกลุ่มประเทศ EFTA ที่กำลังจะเริ่มขึ้น
สำหรับจดหมายที่เอฟทีเอ ว็อทช์ และเครือข่ายฯ ยื่นต่อ ส.ส.กลุ่มประเทศ EFTA มีเนื้อความสรุปได้ดังต่อไปนี้
ในวาระที่ คณะกรรมการที่ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลุ่มประเทศ EFTA ได้มาเยือนประเทศไทย พวกเราภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงยา การสาธารณสุข ความหลากหลายทางชีวภาพ อธิปไตยทางอาหาร และการคุ้มครองผู้บริโภค ขอแสดงความกังวลต่อการเจรจาการค้าที่กำลังดำเนินอยู่ที่โดยที่หลายหัวข้อจะส่งผลกระทบทางลบอย่างรุนแรงต่อการสาธารณสุข ภาคเกษตรกรรม และความเป็นอยู่ของประชาชนไทย
แม้ว่า ตั้งแต่ปี 2001 สมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ได้ยอมรับปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุขที่ให้ประเทศสมาชิกมีสิทธิในการปกป้องการสาธารณสุขโดยเฉพาะสร้างการเข้าถึงยาให้แก่ทุกคน แต่ที่ผ่านมา การเจรจา FTA ทั้งกับสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ล้วนมีการยื่นข้อเรียกร้องในข้อบททรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การลงทุน ที่จะทำลายกฎหมายภายในประเทศ ทำให้ยาราคาแพง ทำลายศักยภาพในการผลิตยาของประเทศ
จากงานวิจัยผลกระทบต่อการเข้าถึงยาจากข้อเรียกร้องจาก FTA ไทย-สหรัฐฯ และ CPTPP ชี้ว่า ค่ายารักษาโรคของประเทศจะแพงมากกว่าแสนล้านบาทต่อปีจากข้อเรียกร้องที่เกินไปกว่าที่ WTO กำหนดอยู่ และประเทศไทยต้องพึ่งพายานำเข้าเพิ่มจากร้อยละ 71 เป็นร้อยละ 89 จากข้อบทการเชื่อมโยงการขึ้นสิทธิบัตรและการขึ้นทะเบียนยา และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ยิ่งไปกว่านั้น ข้อบทด้านการลงทุนจะจำกัดสิทธิของไทยในการออกนโยบายใช้กฎหมายเพื่อดูแลคุ้มครองประชาชน การออกกฎระเบียบควบคุมการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปกป้องสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจำกัดการใช้กลไกยืดหยุ่นในความตกลงของ WTO เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาที่ติดสิทธิบัตร
ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในการดูแลประชาชนให้ได้รับการดูแลรักษาที่ดีมีคุณภาพโดยไม่ล่มจม แต่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้จะตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะไม่สามารถดูแลประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ หากถูกบังคับให้ซื้อยาในราคาแพงมากและขาดซึ่งการบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ
อีกประการหนึ่ง ในข้อเรียกร้องจากเอฟทีเอต่างๆ ที่ให้ไทยต้องเข้าร่วมอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) ทั้งที่ไทยมีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชที่เป็นไปตาม WTO แล้ว หากไทยถูกบังคับให้เข้าร่วม UPOV1991 จะทำให้ประเทศไทยต้องแก้ไขกฎหมายภายใน โดยต้องขยายสิทธิผูกขาดให้แก่บรรษัทเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่ และลดทอนสิทธิของเกษตรกรดังนี้
-ขยายระยะเวลาการผูกขาดจากที่กำหนดไว้ส่วนใหญ่จาก 15 ปี เป็น 20 ปี
-ส่งผลกระทบต่อกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ
-การเก็บรักษาพันธุ์พืชเพื่อปลูกต่อ การคัดเลือกพันธุ์ในแปลงปลูก และแลกเปลี่ยนระหว่างเกษตรกร ซึเป็นวิถีชีวิต และฐานรากของการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหารของประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง
-จากการศึกษาพบว่าการเข้าร่วม UPOV1991 ทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรต้องจ่ายในระยะยาวแพงขึ้น 3-4 เท่า
ดังนั้น จากเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ภาคประชาสังคมไทยขอคัดค้านข้อเรียกร้องต่างๆในการเจรจา FTA อที่จะส่งผลกระทบทางลบต่อการเข้าถึงยา การสาธารณสุข และภาคเกษตรกรรม ดังต่อไปนี้
Data Exclusivity การผูกขาดข้อมูลทางยาที่จะขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐขึ้นทะเบียนยา โดยอ้างอิงข้อมูลการทดลองทางคลินิกแม้ว่ายานั้นจะหมดสิทธิบัตรแล้วก็ตาม และจะยิ่งเป็นความซับซ้อนทางกฎหมายหากต้องประกาศบังคับใช้สิทธิหรือประกาศซีแอลจนไม่สามารถทำได้
Patent Term Extension การขยายอายุสิทธิบัตรมากกว่า 20 ปีตามที่กฎหมายไทยและ WTO กำหนด Increase Patent Scope ขยายขอบเขตสิ่งที่จดสิทธิบัตรได้ไปยังรูปแบบสารเคมีใหม่ รูปแบบการใช้ใหม่ของยาเก่า ทั้งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยไม่มีนัยยะสำคัญ แต่สามารถได้สิทธิผูกขาดไปมากกว่า 20 ปี
Patent Linkage การเชื่อมโยงการขึ้นสิทธิบัตรและการขึ้นทะเบียนยาที่ขัดขวางการขึ้นทะเบียนยาชื่อสามัญของยาที่ติดสิทธิบัตร ทำให้ขัดขวางการวิจัยและพัฒนาช่วงเริ่มต้นของยาชื่อสามัญ รวมทั้งยาที่จะถูกประกาศซีแอล หรือยาที่หมดอายุสิทธิบัตร หรือถูกเพิกถอนสิทธิบัตรแล้วก็ตาม
Restrictions on Compulsory Licenses จำกัดการประกาศบังคับสิทธิเหนือสิทธิบัตร ทั้งที่เป็นมาตรการที่ได้รับการรับรองระดับนานาชาติเพื่อการเข้าถึงยา
Restrictions on Parallel Imports ขัดขวางการนำเข้ายาติดสิทธิบัตรที่มีราคาถูกกว่าจากทั่วโลก
Investment Rules ข้อบทว่าด้วยการลงทุน ที่มีกลไกให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องรัฐภาคี เช่น ประเทศไทย ผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการ หากออกนโยบายสาธารณะด้านสาธารณสุข เช่น การประกาศซีแอล มาตรการลดราคายา นโยบายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ปกป้องสุขภาพประชาชน เพื่อไม่ให้ออกนโยบายเหล่านี้
Border Measures มาตรการชายแดนที่จะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรในการยึดจับยาชื่อสามัญไม่ให้นำเข้า ส่งผ่าน หรือส่งออกยาชื่อสามัญ
Injuctiions คำสั่งศาลห้ามกระทำการ ซึ่งจะแทรกแซงความอิสระของระบบศาลและการยุติธรรมในการปกป้องสิทธิทางสุขภาพประชาชนเหนือผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติและในชาติ
Other IP Enforcement Measures กลไกการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ผู้ให้การรักษาพยาบาล และผู้ประกอบการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการผลิตจำหน่ายและใช้ยาชื่อสามัญตกอยู่ในความเสี่ยงถูกฟ้องร้องดำเนินคดี UPOV1991 ที่บังคับให้ประเทศไทยต้องแก้ไขกฎหมายภายใน โดยต้องขยายสิทธิผูกขาดให้แก่บรรษัทเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่ ลดทอนสิทธิของเกษตรกรรายย่อยในการดำรงวิถีชีวิตและอธิปไตยทางอาหาร
“ดังนั้น พวกเราเรียกร้องประเทศสมาชิก EFTA ต้องไม่ยื่นข้อเรียกร้องเหล่านี้ที่ส่งผลกระทบทางลบอย่างรุนแรงต่อการสาธารณสุข ภาคเกษตรกรรม และความเป็นอยู่ของประชาชนไทยในการเจรจา FTA กับไทย” จดหมายของกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ และเครือข่ายฯ ที่ยื่นต่อ ส.ส.กลุ่มประเทศ EFTA ระบุ
ทั้งนี้ ด้านตัวแทน ส.ส.กลุ่มประเทศ EFTA กล่าวกับกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ และเครือข่ายฯ ว่า การเจรจา FTA ในครั้งนี้จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน โดย ส.ส.จากลิกเตนสไตน์ ระบุว่า ได้ย้ำกับรัฐบาลไปแล้วว่า ต้องใส่ใจกับข้อห่วงกังวลของภาคประชาสังคมไทยเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งภาคประชาสังคมและภาควิชาการไทยย้ำมาโดยตลอดว่า จะไม่เข้าร่วมอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991
สำหรับองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนที่ร่วมลงนามในจดหมายที่ยื่นต่อ ส.ส.กลุ่มประเทศ EFTA ประกอบด้วย 13 เครือข่าย ได้แก่ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ,มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ,มูลนธิชีววิถี (BIOTHAI) ,เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ประเทศไทย ,กลุ่มศึกษาปัญหายา ,ศูนย์วิชาการการพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา
มูลนิธิบูรณะนิเวศ ,มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ,มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ,กรีนพีช ประเทศไทย ,เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ,ชมรมเภสัชชนบท และมูลนิธิสุขภาพไทย