‘ประธานสภา’ เล็งชง 172 รายชื่อ ส.ส.ถึงศาลรัฐธรรมนูญปมนายกฯ 8 ปี 22 ส.ค.นี้ ด้าน กกต.เตรียมนำคำร้อง ‘ศรีสุวรรณ’ กรณีเดียวกันถกด่วน 22 ส.ค.นี้เช่นกัน ด้าน ‘วิษณุ’ มอง ‘ประยุทธ์’ บริหารประเทศได้จนกว่าศาลจะมีคำสั่ง ชี้หากศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ยังรักษาการในตำแหน่งได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 20 ส.ค. 2565 นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา กล่าวว่า ความคืบหน้ากรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นคำร้องผ่านนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสองและมาตรา 158 วรรคสี่
ขณะนี้ ประธานรัฐสภาได้ตรวจสอบรายชื่อทั้ง 172 รายชื่อเพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับและรัฐธรรมนูญ เพราะจะต้องมีรายชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด พบว่า ใน 172 รายชื่อ มีลายเซ็นที่ไม่ตรงกับตัวอย่างที่สมาชิกเคยให้ไว้กับเลขาธิการสภาฯ จำนวน 5 ราย ซึ่งได้ตรวจสอบไปยังทั้งหมด และได้ทำบันทึกยืนยันรายชื่อกลับมาแล้วว่าได้ลงชื่อสนับสนุนจริง จากนั้นนายชวนจะได้นำรายชื่อทั้งหมดไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญต่อไป โดยมีรายงานว่า คาดว่าจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้วันจันทร์ที่ 22 ส.ค. 2565 นี้
กกต.ถกกรณี ‘ศรีสุวรรณ’ ยื่นปมนายกฯ 8 ปี
ขณะที่นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสถานะการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า เบื้องต้นคำร้องดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของสำนักงานฯกกต. ทั้งนี้ ตระหนักดีถึงความสนใจของสาธารณชน เป็นส่วนหนึ่งในภารกิจหน้าที่ของกกต.และสำนักงานกกต.ต้องปฏิบัติ
รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมกกต.ประจำสัปดาห์ในวันจันทร์ที่ 22 ส.ค. ทางสำนักงานฯจะเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อให้กกต.ทั้ง 7 คน พิจารณาว่าจะส่งคำร้องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยสถานะการดำรงตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ หลังจากก่อนหน้านี้ทางผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติไม่รับคำร้องของนายศรีสุวรรณไว้พิจารณา โดยระบุเหตุผลว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ให้อำนาจกกต.มีอํานาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
นายกฯบริหารประเทศจนกว่าศาลจะมีคำสั่ง
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือถึง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อขอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ว่า นายชวนจะยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือยังนั้น ตนไม่ทราบ จากนั้นรอว่าศาลจะดำเนินการต่ออย่างไร หากศาลพิจารณาเองได้ก็จบ แต่ถ้าศาลระบุว่าเกี่ยวพันกับนายกรัฐมนตรีแล้วนายกรัฐมนตรีจะว่าอย่างไร อย่างนี้ก็ต้องตอบไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงหรือไม่ว่าในสัปดาห์หน้าจะสามารถดำเนินการเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สื่อต้องไปถามนายกรัฐมนตรีดูเองว่ามีความกังวลหรือไม่
เมื่อถามว่าในส่วนของนายวิษณุเองได้ชี้แจงต่อนายกรัฐมนตรีอย่างไรหรือไม่ถึงระเบียบการทำงาน ที่สามารถดำเนินการต่อไปได้หรือไม่อย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้พูดกันเมื่อหลายเดือนก่อน แต่ช่วงนี้ไม่มีการพูดแต่อย่างไร โดยเมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมาเป็นช่วงที่สื่อพูดกันมากถึงประเด็นนี้ ในตอนนั้นตนบอกกับนายกรัฐมนตรีว่า ไม่มีใครสามารถยื่นได้ในขณะนั้น เพราะยังห่างไกล แต่เมื่อใกล้ถึงวันที่ 24 สิงหาคม คงมีคนยื่นแน่ๆ
ดังนั้น ระหว่างนี้ต้องบริหารราชการไปตามปกติ จนกว่าศาลจะสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ตามมาตรา 82 ซึ่งมาตรา 82 ระบุว่า หากมีเหตุอันสมควร ศาลสามารถสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาที่มีการฟ้องร้องกัน และบางคดีศาลสั่งให้หยุดบางคดีศาลก็ไม่ได้สั่งให้หยุด โดยมาตรา 82 คือหยุดก่อนตัดสิน เพราะถ้าตัดสินแล้วไม่ต้องให้ศาลสั่งให้หยุด เพราะถ้าตัดสินแล้วก็กลับบ้าน
เมื่อถามว่า หากศาลสั่งพล.อ.ประยุทธ์ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จะต้องทำอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ก็ต้องหยุด
ศาลสั่งหยุด ‘ประยุทธ์’ รักษาการต่อได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากพล.อ.ประยุทธ์ต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่ คนที่ขึ้นมารักษาการนายกรัฐมนตรี คือพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เอาตรงๆคือ พล.อ. ประยุทธ์ยังรักษาการได้ แต่ในกรณีที่นายกจะรักษาการไม่ได้จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 168 , 169 ที่ระบุว่าในกรณีที่นายกรัฐมนตรีกระทำผิดไม่ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการ หรือถ้าคนที่กระทำผิดคือคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีก็รักษาการไม่ได้ แล้วให้ปลัดกระทรวงทั้งหมดขึ้นมารักษาการ
นายวิษณุ กล่าวว่า แต่หากนายกรัฐมนตรีพ้นด้วยกรณีอื่นนายกก็รักษาการได้ เหมือนกับหากนายกยุบสภาก็ยังรักษาการได้ นายกลาออกก็ยังรักษาการได้ หรือนายกถูกศาลสั่งว่าครบแปดปีแล้วต้องออก นายกก็รักษากันได้ แต่นายกอาจจะขอไม่รักษาการ ซึ่งถ้าอย่างนั้นก็จะมาเป็น สร.2 คือ พล.อ.ประวิตร
นายกรักษาการ ยุบสภาได้ ยกเหตุการณ์ 'บรรหาร' ปี 39
เมื่อถามว่าถึงกรณี กระแสข่าวการยุบสภาก่อนครบวาระ 8 ปี ขณะนี้ยังมีสัญญาณนั้นอยู่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เห็น พวกสื่อเห็นกันที่ไหนสัญญาณ ตนไม่รู้ สื่อตีระฆังสั่นกระดิ่ง กันตรงไหนว่าจะยุบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯมีสิทธิตัดสินใจหรือไม่ว่าเพื่อความกระจ่าง และก่อนวันที่ 24 สิงหาคม อาจจะขอพักงานตัวเองไปเสียก่อน นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี
เมื่อถามว่า หากทำตามกฎหมาย แสดงว่านายกสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ ใช่หรือไม่นายวิษณุ กล่าวว่า ใช่ ถูก เว้นแต่ศาลจะสั่งตอนที่รับเรื่องว่าให้หยุด กลับอีกคราวหนึ่งเมื่อศาลวินิจฉัยว่าครบแล้ว 8 ปี ถ้าเป็นเช่นนั้นก็พ้น แต่ยังต้องรักษาการ ซึ่งรักษาการจนกว่านายชวน ประธานรัฐสภาจะหานายกรัฐมนตรีคนใหม่
เมื่อถามว่า ในระหว่างที่รักษาการนายกรัฐมนตรี สามารถประกาศยุบสภา ได้หรือไม่นายวิษณุ กล่าวว่า ได้ ในสมัยนายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา เมื่อยุบสภาแล้วยังสามารถปรับครม.ได้ เพราะขณะนั้นในครม.มีความขัดแย้ง จึงต้องปรับครม.ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่