บอร์ดอีอีซี รับทราบการพัฒนา 4 ปี ‘เลขาอีอีซี’ ตีฆ้องดันประเทศโตพุ่ง 4% แน่ในปีหน้า (2566) ก่อนชู 4 ปัจจัยดันไทยเข้าสู่ ‘ประเทศพัฒนาแล้ว’ ในปี 2572
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 15 สิงหาคม 2565 นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้รับทราบ ความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของอีอีซี ในช่วง 4 ปีแรก (2561 – 2565) สรุปรายละเอียดสำคัญ ดังนี้
1. เกิดการอนุมัติงบลงทุนสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท เกินเป้าหมาย 1.7 ล้านล้านบาทใน 5 ปีที่เป็นแผนแรกของอีอีซี
2. สามารถดึงเทคโนโลยีใหม่ผ่านการลงทุน โดย 4 ปีที่ผ่านมา การอนุมัติการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 S-curve มีสัดส่วน 70 % ของการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด และ 5 New S-Curve มีสัดส่วนการลงทุน 36% และเพิ่มขึ้นเป็น 49% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 นี้
3. สร้างระบบการพัฒนาบุคลากรตามความต้องการของตลาด (Demand Driven) แก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่ทำงานกับนวัตกรรมใหม่ อบรมไปได้แล้ว 16,114 คน สิ้นปี 2566 จะดำเนินการได้ 100,000 คน โดยเป้าหมายรวมอยู่ที่ 450,000 คน
นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายแผนงานที่ลงลึกในพื้นที่ 3 จังหวัดเป้าหมาย (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานระดับโลก ระบบสาธารณสุขทันสมัย สาธารณูปโภค (น้ำ ไฟฟ้า ขยะ) ทันสมัยเพียงพอ มีโอกาสมีงานทำ รายได้ดี, การพัฒนาตรงถึงประชาชน พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต บูรณาการการลงทุนในชุมชน ผ่านแผนเกษตร แผนพัฒนาเชิงพื้นที่ Neo Pattaya-บ้านฉาง-บ้านอำเภอ-มาบตาพุด-ระยอง, โครงการลงถึงระดับชุมชน เกิดการมีส่วนร่วมทั้ง พลังสตรีดูแลสิ่งแวดล้อม อีอีซีสแควร์ บัณฑิตอาสา เยาวชนต้นแบบ โครงการต้นแบบสวนภาษาอังกฤษ และจีน หลักสูตรอีอีซีกับการบริหาร อปท. และการปล่อยสินเชื่อพ่อค้า - แม่ขาย และ SMEs หลังสถานการณ์โควิด กับ 9 สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (ปล่อยไปแล้ว 51,420 ราย เป็นสินเชื่อ 34,548 ล้านบาท)
โดยในการประชุมครั้งนี้ ก็เชื่อกันว่าหลังโควิด จะเป็นช่วงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จากการคาดหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ประเมินสภาพเศรษฐกิจปีที่แล้วเติบโต 2.6% ปีนี้เติบโต 3.6% และปีต่อไปแตะที่ 4 % สำหรับใน EEC ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพัฒนาก้าวกระโดดประกอบด้วย
1. การพัฒนาด้าน 5G มีบริษัทจากจีน ญี่ปุ่น และทวีปยุโรป สนใจเข้ามาลงทุน
2. การพัฒนาด้านการผลิตรถยนต์ EV ซึ่งเราได้ส่งสัญญาณออกไปแล้ว เป็นที่สนใจของผู้ผลิตรถยนต์ EV รายใหญ่ ทั้งญี่ปุ่น จีน และยุโรป โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับบริษัท Tesla Motors และ Volkswagen
3. การพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ และ Wellness โดยได้จัดระบบสาธารณสุขและการแพทย์ลงตัว และแบ่งงานกันทำทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการเปิดฉากการพัฒนาการแพทย์สมัยใหม่ทั้ง จีโนมิกส์ และ Digital Hospital ทำให้มีความสนใจการลงทุนทางการรักษาพยาบาลระดับสูง ระบบที่เชื่อมโยงดังกล่าวจะนำไปสู่เครือข่ายธุรกิจ Wellness ทั้ง รพ.ชั้นนำ เวชสำอาง ศูนย์พักฟื้น ธุรกิจโรงแรมเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการแพทย์ อุตสาหกรรมยา อุปกรณ์การแพทย์
และ 4.ทำศูนย์นวัตกรรมภายในพื้นที่ ได้แก่ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ดำเนินการเสร็จระยะแรก กำลังทำหน้าที่เป็นศูนย์วิจัย พัฒนา และถ่ายทอดความรู้ เกษตร ดิจิทัล หุ่นยนต์ โดรน EV แบตเตอรี และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลประเทศไทย (EECd) ส่วน Digital Valley เปิดดำเนินการแล้ว และจะรับการลงทุน DATA Center แรกปลายปี 65
ทั้งนี้ เป้าหมายของอีอีซี ในช่วง 5 ปีต่อไป (2566-70) มีเป้าหมายการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท (2566-70) โดยจะมีเงินลงทุนประมาณปีละ 400,000-500,000 ล้านบาท คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจของ EEC ขยายตัวได้ 7-9% ต่อปี ส่งผลทำให้ประเทศไทยมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวได้ประมาณ 5% ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป และท้ายที่สุด จะทำให้ประเทศเข้าสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2572