‘คณะกรรมการเฉพาะกิจฯ’ เห็นชอบ ‘มาตรการระยะเร่งด่วน-มาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่อง’ รับมือสถานการณ์ในระดับ ‘วิกฤตเศรษฐกิจ’ พร้อมประเมินผลกระทบ 4 วิกฤต
.................................
เมื่อวันที่ 11 ส.ค. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบแนวทางเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ ผ่านมาตรการระยะเร่งด่วน (Quick win) และมาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่อง (Follow-up Urgent Policy) เพื่อรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจพิจารณากำหนดรายละเอียดมาตรการ และเสนอคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับมาตรการระยะเร่งด่วน (Quick win) ได้แก่ กลุ่มมาตรการประหยัดพลังงาน มาตรการระยะเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร อาทิ โครงการบริหารจัดการปุ๋ย โครงการส่งเสริมการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs มาตรการบูรณาการฐานข้อมูลเกษตรกรในหลายมิติ และมาตรการทางการเงินเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
ส่วนมาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่อง (Follow-up Urgent Policy) ได้แก่ มาตรการต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ มาตรการประหยัดพลังงาน อาทิ ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ และลดต้นทุนและปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง โดยมุ่งเน้นการขนส่งทางราง
มาตรการต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร เช่น ศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุนหรือร่วมทุนในการจัดตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยโปแทช เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ มาตรการต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs อาทิ การพัฒนาทักษะทางการเงินในทุกช่วงวัย การดำเนินการของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย และมาตรการต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ มาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
“ขอให้แต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้เน้นว่าจะทำอะไรได้มากกว่าเดิมบ้าง และพิจารณาดำเนินการไปตามห้วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งมาตรการบางอย่างอาจจะดำเนินการต่อไป บางอย่างอาจจะต้องลดหรือเพิ่ม ต้องพิจารณาเตรียมการอย่างรอบคอบ ให้สอดคล้องกับงบประมาณที่่มีอยู่ และต้องเตรียมสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจนว่า แต่ละเรื่องจะเดินหน้าไปด้วยงบประมาณส่วนใด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในที่ประชุม
พล.อ.ประยุทธ์ ยังระบุว่า การทำงานในเรื่องการบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เพราะมีประเด็นหลายอย่างที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบกับหลายด้าน ซึ่งวันนี้รัฐบาลกำลังบริหารสถานการณ์วิกฤตที่มีความเสี่ยงสูง โดยต้องมีการติดตามประเมินสถานการณ์ และมีวิธีการทำงานแก้ไขสถานการณ์เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะทำให้ดีที่สุด
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯได้ประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์อื่นๆ และผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งประเมินจากเครื่องบ่งชี้ที่อาจก่อให้วิกฤต 4 ด้าน ได้แก่ 1.วิกฤตต้นทุนพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ 2.วิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร 3.วิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs และ 4.วิกฤตเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขัน
โดยพบว่าปริมาณน้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า และสินค้าที่จำเป็นยังไม่ขาดแคลน แต่มีราคาสูงขึ้น และรัฐบาลได้มาตรการช่วยเหลือ ส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขาดสภาพคล่อง นอกจากนี้ วัตถุดิบด้านการเกษตร อาทิ ปุ๋ยและอาหารสัตว์ก็ไม่ขาดแคลน แต่มีราคาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สินค้าเกษตรบางรายการ มีราคาขายที่ต่ำกว่าต้นทุน
สำหรับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs พบว่าหนี้ครัวเรือนเริ่มลดลง ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้ แต่รายจ่ายครัวเรือนยังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในหมวดค่าโดยสาร ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วน SMEs ในภาพรวมค่อยๆ ฟื้นตัว แต่ในบางสาขายังไม่กลับสู่ระดับปกติ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ยังมีความกังวลเรื่องต้นทุนและกำไร และที่ประชุมเห็นว่าควรเร่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างต่อเนื่อง