วิป 3 ฝ่าย สรุปถกกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. 10 ส.ค. 65 นี้วันเดียว ก่อนปัก 17-19 ส.ค. 65 พิจารณางบปี 65 ‘วิปรัฐ’ รับดึงเวลาทำสภาล่มให้เกิน 180 วันเพื่อสูตรหาร 100 มีผลเป็นสิ่งที่ทำได้ ด้านพรรคเล็ก-ภูมิใจไทย กังขาขอพิจารณาไป 2 วัน แต่ได้วันเดียว ทวง ‘พรเพชร’ ต้องรับผิดชอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 4 สิงหาคม 2565 นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้นัดประชุมร่วมกับวิป 3 ฝ่าย คือ วิปฝ่ายรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา ที่รัฐสภา ชั้น 2 หลังบัลลังก์ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีตัวแทนจากทั้ง 3 ฝ่ายเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานวิปพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะเลขาธิการวิปวุฒิสภา
โดยที่ประชุมมีข้อสรุปว่า ในวันที่ 10 ส.ค. 2565 เวลา 09.00 น. จะกำหนดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาวาระที่ค้างอยู่ คือร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. .... ที่เหลืออยู่ 4 มาตรา จากนั้นเป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. ….
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังกำหนดให้วันที่ 11 ส.ค. เป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และวันที่ 17-19 ส.ค. 2565 เป็นการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในวาระ 2 -3 ต่อไป
ด้านนายชินวรณ์ ให้สัมภาษณ์ว่าภายหลังการประชุมว่า ในเรื่องร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งกระบวนการเป็นไปตามข้อบังคับ และรัฐธรรมนูญ โดยมีทางออก 3 ทาง คือ
1.ถ้าที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบในวาระ 2-3 ก็จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 (2) คือประธานรัฐสภา ส่งร่างกฎหมายไปที่องค์กรอิสระ หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ความเห็นชอบว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
2.ถ้าที่ประชุมรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบก็ถือว่าร่างกฎหมายนี้ตกไป หากจะมีการหยิบยกขึ้นใหม่ ก็ต้องเริ่มกระบวนการกันใหม่
และ 3.ถ้าที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ก็ต้องเป็นไปตาม มาตรา 132 (1) คือนำร่างที่เสนอในวาระ 1 มาพิจารณาเพื่อให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ คือร่างของกกต. ที่ให้ใช้สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 100 และส่งให้นายกฯ ต่อไป
กลยุทธ์ดึงเวลา 180 วัน ยังเห็นไม่ตรงกัน
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยออกมายอมรับว่าจะใช้กลไกดึงเวลาให้เกิน 180 วัน ในส่วน พรรค ปชป. มีแนวทางนี้หรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า เรื่องการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ มีความเห็นที่แตกต่างกัน ทั้งเห็นด้วยกับหาร 100 และหาร 500
ฝ่ายที่เห็นด้วยกับหาร 100 เห็นว่า ควรให้เป็นไปตามมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญที่แก้ไขใหม่ ส่วนเสียงข้างน้อยในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่เห็นว่าควรหาร 500 เมื่อนำมาเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ที่ประชุมก็เห็นด้วยกับเสียงข้างน้อยไปด้วย ขณะที่อีกส่วนเห็นว่า การที่จะไม่ให้เป็นไปตามกระบวนการพิจารณากฎหมาย อาจจะมีปัญหาในเชิงปฏิบัติได้ จึงมีทางเดียวคือ ถ้าทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวพิจารณาไม่ทัน 180 วัน จะถือว่าต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ คือการนำร่างที่ครม. เสนอเข้ามา ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ใช้สูตรหาร 100 ส่วนของพรรค ปชป. มีจุดยืนให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญทุกประการ เนื่องจากเราเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐสภามีความเป็นอย่างไรก็ต้องดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า มีความพยายามที่จะทำให้รัฐสภาล่มอีกหรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า ถ้าเขามีทิศทางให้เสร็จไม่ทัน 180 วัน รัฐสภาก็อาจจะล่มอีกได้ถือเป็นเรื่องปกติ และเป็นกลไกที่สามารถทำได้ จึงอยากทำความเข้าใจว่าเวลาพิจารณากฎหมาย อยากให้เป็นไปตามข้อบังคับ และรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ไม่อยากให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐสภามุ่งเน้นแต่เรื่องหาร 100 หรือหาร 500 ทั้งที่ประชาชนมีปัญหาเรื่องปากท้อง ตนยืนยันในฐานะส.ส.เขตคนหนึ่ง ให้ความสำคัญกับปากท้องของประชาชนเป็นหลัก แต่เรื่องรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่อง 1 ใน 100 ที่รัฐสภาต้องแก้ไขให้เกิดดุลยภาพ
นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท (ขวา) และนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย (ซ้าย)
ทวง ‘พรเพชร’ พิจารณากฎหมาย ส.ส. แค่วันเดียว
ด้านนายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท และนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ร่วมกันแถลงข่าวถึงกรณีผลการประชุมร่วม 3 ฝ่ายเช่นกันว่า รู้สึกเสียดายที่ผลมติวิปออกมาเป็นเช่นนี้ เพราะในการประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ได้กล่าวในที่ประชุมว่า จะให้มีการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 9 ส.ค.แต่เพราะเหตุใดนายพรเพชรถึงได้กลับคำพูด เรื่องนี้นายพรเพชรต้องให้คำตอบกับสังคมให้ชัดเจนว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่
“การพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ดูเหมือนจะมีการเตะถ่วงให้ไม่ทันภายใน 180 วัน และทำให้กฎหมายตกไป ซึ่งจะต้องกลับไปใช้ร่างที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอมา ทำให้การทำงานกว่า 5-6 เดือนที่ผ่านมาสูญเปล่า และเราในฐานะสมาชิกรัฐสภาต้องรับผิดชอบต่อกฎหมายนี้ร่วมกัน โดยเราจะไม่ยอมให้กฎหมายนี้ตกไปเพราะเลยเวลาเช่นนี้ ซึ่งอาจจะเป็นครั้งแรกตลอดระยะเวลาที่เราเป็น ส.ส.สมัยที่ 25 เพียงฉบับเดียว และในอดีตที่ผ่านมาก็แทบจะไม่มีเหตุการณ์เช่นนี้ ตนไม่ได้ตีตนไปก่อนไข้ว่าจะถูกตีตกไป แต่มันส่งสัญญาณว่าจะเป็นเช่นนั้น” นายโกวิทย์ระบุ
นายโกวิทย์กล่าวอีกว่า กฎหมายจะผิดถูกอย่างไร จะเป็นสูตรหาร 100 หรือ 500 ไม่ได้สนใจ จะเป็นอย่างไรก็ได้ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าสมาชิกรัฐสภาจะรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างไร ทางวุฒิสภาจะต้องมีส่วนมาร่วมรับผิดชอบ โดยตอนนี้อาจจะมีสัญญาณจากบางพรรคที่มีความพยายามให้องค์ประชุมล่ม ซึ่งต้องขอให้นายพรเพชร พิจารณาในการเปิดประชุมร่วมวันที่ 9 ส.ค.ด้วย เพราะจะทำให้อัตราความเสี่ยงที่กฎหมายลูกต้องตกไปมีน้อยลง แต่หากเปิดวันที่ 10 ส.ค.เพียงวันเดียวก็มีโอกาสเสี่ยงสูงมาก
นายโกวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เหมือนร้องเพลงเดียวกันแล้ว ทั้งพรรครัฐบาลบางพรรค จับมือกับพรรคฝ่ายค้าน และวิปทั้ง 3 ฝ่ายที่ได้มีการประชุมกันก็ได้จับมือร้องเพลงเดียวกันอีก
‘ภูมิใจไทย’ ปัดฮั้วทำสภาล่ม
ด้านนายสฤษฏ์พงษ์ กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยไม่ได้ติดใจว่า สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ จะหาร 100 หรือ หาร 500 ในขั้นตอนแรกพรรคไม่เคยเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ใช่ประโยชน์ของประชาชน ตอนนี้เรามีความห่วงใยว่า ประชาชนจะมองการทำหน้าที่ของสภาอย่างไร ว่ามีเวลาถึง 180 วันแต่กลับไม่ทำงาน การแก้ปัญหาตรงนี้เป็นอำนาจของประธานรัฐสภาว่า ก่อนที่จะถึงวันที่ 15 ส.ค.ที่กฎหมายจะถูกตีตกไปนั้น เราได้พยายามทำหน้าที่อย่างเต็มที่หรือไม่ เพราะการบรรจุระเบียบวาระและนัดประชุมสามารถทำได้ทุกวัน แม้กระทั่งวันเสาร์ยังนัดประชุมได้เลย จะเป็นวันใดก็ได้ก่อนวันที่15 ส.ค. เรามาร่วมมือทำให้เสร็จ
"กระแสข่าวที่ระบุว่ามีพรรครัฐบาลฮั้วกับพรรคฝ่ายค้านนั้น ขอยืนยันว่า พรรคภูมิใจไทยไม่เคยฮั้วกับใครทั้งนั้น การเปิดประชุมร่วมในวันที่ 10 ส.ค.เพียงวันเดียว ผมเชื่อว่าการพิจารณากฎหมายลูกไม่ทันแน่นอน เพราะฉะนั้นก่อนหน้านี้การนัดประชุมในวันที่ 9 ส.ค.เพิ่มอีกหนึ่งวันถือว่ามีความเหมาะสมแล้ว สำหรับพรรคภูมิใจไทย หากเป็นการหาร 500 เราอาจจะไม่ได้บัญชีรายชื่อเลย แต่เราก็พร้อมที่จะเดินหน้าไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และเมื่อผ่านสภาไปแล้ว ทางกกต.จะว่าอย่างไรก็เป็นไปตามระบบของมัน แต่วิธีการปล่อยให้กฎหมายถูกตีตกไป จะทำให้ประชาชนมองว่าเราไม่ทำงาน"นายสฤษฏ์พงษ์ กล่าว