'อนุทิน' โต้ 'อ.เจษฎา' ปมโพสต์วาทกรรมใช้ยาโมลนูฯ กลายพันธุ์จากหนูเป็นตัวเงินตัวทอง ชี้เขียนด้วยอารมณ์ ไม่ให้ค่า ลั่นมีแต่อคติควรไปพบแพทย์รักษา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณี รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นทางการแพทย์จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของระบบสาธารณสุขด้านการแพทย์หรือไม่ ว่า เห็นว่า รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้สั่งสอนแล้ว เรื่องแบบนี้ต้องเชื่อแพทย์ รศ.นพ.ฉันชายก็มีความรู้เรื่องการใช้ยารักษาโควิดโดยตรง คำถามคือหากเราป่วยควรเชื่อแพทย์หรือคนไม่ใช่แพทย์ คำตอบอยู่ในตัวแล้วว่าต้องเชื่อแพทย์ สธ.ก็สื่อสารตลอดว่า อย่าเชื่อข้อมูลจากผู้ไม่เกี่ยวข้อง
“แพทย์ทำงานโควิดมา 3 ปีแล้ว มีความชำนาญในการรักษาผู้ป่วย ดังนั้นคนที่ไม่ใช่ หิวแสงแบบนี้ก็ไม่ควรให้ความน่าเชื่อถือ คอนเมนต์ต่างๆ ก็มีอคติ ทำไมไม่ไปกังวลเรื่องฝีดาษลิงมากกว่า อย่าเขียนระบายอารมณ์ ให้ข้อมูลแบบนี้กับประชาชน ทำงานตัวเองให้ดีที่สุดก่อน” นายอนุทินกล่าว
ถามว่าโควิดเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ปัจจุบันยังมีนักวิชาการออกมาให้ข้อมูลเกิดความสับสน จะต้องสื่อสารความเข้าใจกับนักวิชาการอย่างไร นายอนุทินกล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว ตนได้พบกับอธิการบดีจุฬาฯ ท่านก็ไม่เห็นด้วยกับคนที่ไม่เกี่ยวข้องแล้วมาให้ข้อมูล แต่เป็นเรื่องบุคลากรที่ต้องจัดการกันเอง
“ขนาดผมอยู่กับแพทย์มากกว่า เวลาผู้สื่อข่าวถามเรื่องใช้ยา ผมยังไม่กล้าพูดเรื่องการใช้ยา ทุกอย่างเป็นเรื่องทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชน ยาเถื่อนเราก็เร่งจับ ร่วมมือกับตำรวจไปจับมา สินค้าดูดี อาจเป็นยาจริง แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน จับมาก็ต้องทำลายเราไม่ใช่คำว่ายาแท้ ยาปลอม แต่เป็นยาเถื่อน ไม่เอาไปบริจาคอยู่แล้ว เพราะผิดกฎหมาย” นายอนุทินกล่าว
เมื่อถามถึงกรณี สธ.ให้ข้อมูลว่าการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ มีผลต่อการกลายพันธุ์ในสัตว์ทดลอง ซึ่ง รศ.ดร.เจษฎา สร้างวาทกรรมว่า ผลการกลายพันธุ์ทำให้หนูกลายเป็นตัวเงินตัวทอง นายอนุทินกล่าวว่า อย่าไปขยายความเลย ต้องดูว่าใช่เรื่องจริงหรือไม่ ทดลองกับหนูแล้วกลายพันธุ์เป็นตัวเงินตัวทอง คำพูดว่ากลายพันธุ์ไม่ได้หมายถึงกลายสภาพไป แต่อย่างกลายพันธุ์เบตามาเป็นเดลตา ยังมีพื้นฐานเดิมอยู่ แต่กลายจากอย่างหนึ่งเป็นอย่างหนึ่ง เป็นก็อตซิล่า ไม่ใช่แบบนั้น นี่แสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นมืออาชีพ เป็นการเขียนโดยอารมณ์ที่แปรปรวน ข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ ไม่ควรเอามาขยายความต่อ แสดงให้เห็นถึงอคติอย่างรุนแรง ควรไปพบแพทย์รักษา
ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. กล่าวถึงกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์เชิงแนะนำยารักษาโควิดเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีสำรองในบ้าน ว่า เราต้องดูเจตนาว่าเป็นการตั้งใจโฆษณาให้เกิดความเข้าใจผิดหรือไม่ การที่ประชาชนไปหาซื้อยาเองเป็นเรื่องที่ไม่ควรอยู่แล้ว ทั้งนี้ ยารักษาโควิดไม่ได้ถูกปิดกั้นการนำเข้า เพราะที่มีการให้ทะเบียนไปก็มีแต่เอกชน อย่างฟาวิพิราเวียร์มี 3 รายและมีที่ผลิตในประเทศ โมลนูพิราเวียร์ 3 ราย ซึ่งบริษัทที่ได้รับอนุญาตจะมีข้อมูลว่า ขายยาไปให้เอกชนรายใด หากเป็นการขายที่ถูกต้องจากผู้ที่ได้รับอนุญาตนำเข้า ก็สามารถทำได้ใน รพ.หรือคลินิกเอกชน เพียงแต่ยาโควิดต้องเป็นการจ่ายโดยแพทย์ ไม่ใช่ประชาชนไปหาซื้อเองตามออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนเข้าไปพบแพทย์เพื่อให้มั่นใจจะได้รับยาที่นำเข้าถูกต้อง และการใช้ยาเพื่อให้ถูกต้องกับอาการของโรค