กมธ.แก้ พ.ร.ป. ส.ส. คงสูตรหาร 500 ชงเสนอญัตติเข้าสภา 1 ส.ค.นี้ ด้านการประชุมสภาวันนี้ล่มอีกหลังถก พ.ร.บ.พินัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ.... รัฐสภา ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมมาตราในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ให้สอดคล้องกับสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร500 เสร็จแล้ว
โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติม 2 มาตรา จากนี้ฝ่ายเลขานุการฯ จะดำเนินการจัดทำรายงานเพื่อส่งให้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เบื้องต้นคาดว่าจะส่งได้ในวันที่ 1 ส.ค. ซึ่งจะทันต่อการบรรจุวาระพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 2 ส.ค.นี้
นายนิกร กล่าวอีกว่า สำหรับมาตราที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นแบ่งเป็นการเพิ่มมาตราขึ้นใหม่จำนวน 1 มาตรา คือ มาตรา 24/1 ว่าด้วยการแก้ไขมาตรา 23 ตาม พ.ร.บ.เดิม ซึ่งมีรายละเอียดการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งที่ประชุมลงมติชี้ขาด โดยองค์ประชุม 25 คน ลงมติเห็นด้วย 15 คน ไม่เห็นด้วย 4 คน งดออกเสียง 5 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 คน ทั้งนี้ มีกมธ.เสียงข้างน้อย ประกอบด้วย ตน นายชูศักดิ์ ศิรินิล กมธ.จากพรรคเพื่อไทย, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ, นายประยุทธ์ ศิริพานิช และนายกฤช แก้วอยู่ ส.ส.เพชรบุรี พรรคพลังประชารัฐ อย่างไรก็ตาม กมธ.ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย ได้สงวนความเห็น
นายนิกร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ แก้ไขมาตรา 26 ซึ่งตามร่างของกมธ. ให้ยกเลิกมาตรา 131 เกี่ยวกับการคำนวณส.ส. กรณีที่มีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ ผลการพิจารณา วันนี้กมธ.ได้แก้ไข โดยคงเนื้อหาให้ 1 ปีนับจากวันเลือกตั้งทั่วไป หากพบว่าเขตใดต้องเลือกตั้งใหม่ด้วยเหตุการทุจริต เมื่อประกาศผลเลือกตั้งแล้ว ให้นำไปคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้รับใหม่ โดยให้จำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ได้รับไปแล้วมารวมคำนวณด้วย และได้ยกเว้นการไม่นำคะแนนมาคำนวณใหม่ในกรณีอื่นที่ไม่ใช่การเลือกตั้งที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรม และกำหนดไม่ให้มผลกระทบต่อการคำนวณส.ส.ที่พรรคพึงมี
นายนิกร กล่าวด้วยว่า ในมาตราดังกล่าวมีกมธ.ลงมติชี้ขาด โดยมีผู้เห็นด้วย 17 เสียงไม่เห็นด้วย 6 คน งดออกเสียง 5 เสียง ทั้งนี้มีกมธ.สงวนความเห็น ได้แก่ ตน, นายวันมูหะมัดนอร์, นายชูศักดิ์, นายประยุทธ์, นายกฤช และนายพงษ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำพรรคเพื่อไทยและกมธ.ในสัดส่วนพรรคเพื่อไทย สงวนความเห็น
สภาล่มอีกแล้ว
ขณะที่การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยการพิจารณาในวาระ 2 เป็นรายมาตรานั้น การโหวตแต่ละครั้งผ่านเกินครึ่ง หรือ 364 เสียง มาไม่ถึง 10 เสียง และในการลงมติในวาระ 3 มีผู้เห็นด้วย 385 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกคะแนนเสียง 1 และไม่ลงคะแนน 2 เสียง
จนกระทั่งเวลาประมาณ 14.00 น. ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. .... ซึ่งกมธ. พิจารณาเสร็จแล้ว แต่ดูเหมือนว่านายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม พยายามจะขอยุติการประชุม แต่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ลุกขึ้นแสดงความเห็นว่า ยังเหลือเวลาอีกหลายชั่วโมง ซึ่งฝ่ายค้านพร้อมร่วมประชุม และดูแล้วในห้องประชุมมีองค์ประชุมครบ ขอให้เดินหน้าประชุมต่อ จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวต่อ แต่เมื่อถึงช่วงการลงมติ มาตรา1 ชื่อร่าง พ.ร.บ. นายชวนได้กดออดเรียกสมาชิกแสดงตน เกือบ 20 นาที ทั้งนี้ในช่วงหนึ่งระหว่างรอสมาชิกขานชื่อเพื่อให้ครบองค์ประชุม นายชวนถึงขึ้นเอ่ยปากว่า “เก็บหอมรอมริบครับ” พร้อมยิ้มและหัวเราะ
จนนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ขอให้ประธานนับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ เพราะส.ว.มีความพร้อมเช่นเดียวกับส.ส. ฝ่ายค้าน ขอให้การประชุมเดินหน้าต่อ แต่นายชวนกล่าวว่า องค์ประชุมครบพอดี และพวกเราต้องเสียบบัตรแสดงตน คนที่ขานชื่ออย่าไปเสียบบัตรซ้ำ เท่าไหร่ก็เท่านั้น เราต้องเอาความเป็นจริงเป็นหลัก ในที่สุดองค์ประชุมมีจำนวน 368 เสียง ถือว่าครบองค์ประชุม จากนั้นจึงลงมติชื่อร่าง พ.ร.บ. ก่อนจะพิจารณาต่อและลงมติในมาตรา 2 กำหนดเวลาบังคับใช้กฎหมาย นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้กดออดเรียกให้ลงมติ พร้อมกล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ยาวมาก และมีคนแปรญัตติจำนวนมาก แต่ตนพร้อมสู้ ดังนั้นขอความกรุณาสมาชิก ถ้าพร้อมเพรียงกัน ตนไม่ไปไหน จากนั้นนายพรเพชร ได้รอสมาชิกเป็นองค์ประชุมประมาณ 5 นาที แต่ดูเหมือนองค์ประชุมจะไม่ครบ ก่อนจะกล่าวว่า จะรอผลว่าจะเอา 180 วัน หรือ 240 วันดี หรือจะไปทราบในการประชุมครั้งหน้า แต่สุดท้ายนายพรเพชรได้ขอปิดประชุมในเวลา 15.45 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับกรณีที่การประชุมรัฐสภาล่ม เพราะมีปัญหาองค์ประชุมนั้น ก่อนหน้านี้เกิดขึ้นมาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อ 5 กรกฎาคม ระหว่างพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ.. ในวาระ 2 เนื่องจากส.ส.ทยอยกลับบ้าน เพราะที่ประชุมได้ใช้เวลาพักการประชุมไปเป็นเวลานาน จนสมาชิกเข้าใจผิดว่าปิดการประชุมไปแล้ว