ที่ประชุมร่วม ส.ส.-ส.ว. พิจารณากฎหมายลูก 2 ฉบับ ‘เลือกตั้ง ส.ส. - พรรคการเมือง’ ปมหาร 500 ฉุด สภาลงมติถอนออกไปพิจารณาใหม่ หลังกมธ.เสียงข้างน้อยจะเสนอ แต่ถูกฝ่ายค้านดาหน้าโต้ ขณะที่กม.พรรคการเมือง ที่ประชุมร่วมเห็นชอบโหวตคว่ำ ‘ไพรมารีโหวต’
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ส.ส.-ส.ว.) ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม เมื่อวาานนี้ (26 ก.ค. 65) มีระเบียบวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ต่อจากเมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยเป็นการพิจารณาในวาระสอง เริ่มที่มาตรา 25
นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ได้รับมอบหมายจากนายสาธิต ปิตุเตชะ ประธานกมธ. ให้หารือต่อที่ประชุมว่า สืบเนื่องจากที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่มีมติแก้ไขมาตรา 23 เกี่ยวกับวิธีการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค และกมธ.หลายคนเห็นว่าเพื่อให้การแก้ไขมาตราต่อไปเป็นไปตามข้อบังคับ และให้สอดคล้องกับมาตรา 23 จึงควรได้รับอนุญาตแก่ที่ประชุมก่อน และขอพักการประชุมเป็นเวลา 30 นาที
จากนั้นนายชวน อนุญาตและสั่งพักการประชุม 30 นาที ต่อมาเวลา 10.49 น. ได้เปิดการประชุมอีกครั้ง นายมหรรณพ รายงานผลการหารือว่า กมธ.ขอยืนยันร่างรายงานฉบับเดิมเพื่อพิจารณา ส่วนมาตรา 23 เมื่อแก้ไขผิดจากร่างเดิมไป ก็ขอให้เป็นหน้าที่ของกมธ.เสียงข้างน้อยเสนอ
จากนั้น นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย ได้ลุกขึ้นเสนอ มาตรา 24/1 ซึ่งเป็นมาตราที่ขอเพิ่มขึ้นใหม่
ฝ่ายค้านดาหน้าไม่เห็นด้วย ม.24/1
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างการนำเสนอร่างมาตราใหม่ดังกล่าว ฝ่ายค้านหลายคนอภิปรายทักท้วงกมธ. ถามถึงการกระทำดังกล่าวปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือไม่ อาทิ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงว่า กระบวนการที่กำลังเกิดขึ้นไม่ชอบด้วยนิติวิธี ซึ่งกำลังมีกมธ.เสียงข้างน้อยนำเสนอเพื่อให้รัฐสภาพิจารณา ทั้งนี้ กระบวนการแปรญัตติตกไปนานแล้ว อยู่ดีๆ จะมีความเห็นใหม่แทรกขึ้นมาโดยเป็นเสียงข้างน้อยนั้นไม่สามารถทำได้
หากจะทำต้องไปประชุมกันแล้วมาเป็นเสียงข้างมากและลงมติกันมา พวกตนยังจะรับได้มากกว่า แต่กมธ.ฯกลับใช้คำว่าให้เสียงข้างน้อยเสนอขึ้นมา 1 ข้อเพื่อให้รัฐสภามีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ตนคิดว่าไม่ชอบด้วยนิติวิธี กระบวนเช่นนี้เราจะเดินต่ออย่างไร ตนมีความจำเป็นต้องสอบถามว่าอนุญาตให้ทำได้ด้วยข้อบังคับการประชุมใด เพราะไม่มีกระบวนการนี้อยู่ในสารบบวิธีการกระทำกฎหมายที่เราเคยได้ทำมา
นายชวน วินิจฉัยว่า นายมหรรนณพได้แจ้งว่าผลการหารือเป็นอย่างไร และอนุญาตให้กมธ.เสียงข้างน้อยเสนอแก้ไข แต่ทั้งหมดอยู่ที่มติของที่ประชุม ตนจะต้องถามหลังจากเสร็จแล้วและให้แสดงความเห็น และขอมติว่าจะอนุญาตให้มีการแก้ไขมาตรา 24/1 หรือไม่ ทั้งนี้โดยทั่วไปก็ไม่ค่อยมีเช่นนี้ แต่โดยหลักแล้ววิธีการมีสิทธิที่จะปรับปรุงแก้ไขได้ ดังนั้น ก็อนุญาตให้เขาทำได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็คือมติที่ประชุม
นายจุลพันธ์ จึงถามต่อว่า ทำไมไม่ทำแบบที่เคยปฏิบัติคือ กมธ.ไปประชุมกันแล้วลงมติเห็นชอบกันมา พวกตนยังจะเดินต่อให้กับท่าน แต่เป็นเช่นนี้หมายความว่ากมธ.ไปคุยกันมาแล้วก็ยังคุยไม่จบ จึงส่งกลับมาเป็นภาระของพวกเรา ที่จะต้องกลับมาดำเนินการตามกระบวนการนิติวิธีที่ไม่ชอบใช่หรือไม่ นายชวนในฐานะทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม ชี้แจงว่า เราก็ต้องแก้ภาระต่อไป เป็นหน้าที่เรา
ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กมธ.จากพรรคประชาชาติ ประท้วงว่า วิธีการดำเนินการไม่เป็นไปตามข้อบังคับของการประชุมรัฐสภา เพราะในมาตรา 24 ซึ่งผ่านไปแล้วไม่มีการแก้ไขและไม่มีผู้สงวนขอแปรญัตติ แต่ที่จะมีการเสนอ ขณะนี้กมธ.ไม่ได้ไปขอจากรัฐสภาว่าขอเอาไปประชุมเพื่อเอาไปแก้ไข ที่กมธ.ขอประธานคือขอพักการประชุม เมื่อพักการประชุมแล้วจะไปทำอะไรนอกกติกาการประชุมรัฐสภา และรายงานการประชุมเดิมก็คงจะกระทำไม่ได้ หากจะทำก็จะต้องขออนุมัติต่อสภาว่าขอให้กมธ.นำไปพิจารณา ทบทวน แต่สภาอนุมัติให้พักการประชุมไม่ได้บอกว่าจะมีการแก้ไข ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขใหม่ได้
นายมหรรณพ ชี้แจงอีกว่า จากการประชุมกมธฯ มีมติ เป็น 2 มติ โดยตนถามว่า 1. กมธ.ยังคงยืนตามรายงานที่ได้นำเสนอต่อรัฐสภาไปแล้วและอนนุญาตให้กมธ.เสียงข้างน้อย ผู้นำเสนอแก้ไขมาตรา 23 เป็นผู้นำเสนอในที่ประชุมรัฐสภาในมาตราที่เห็นว่ามีความขัดหรือแย้งกับมาตรา 23 ที่แก้ไขแล้ว
และ2.ให้ขอถอนญัตตินี้ไปก่อนเพื่อนำไปพิจารณาทบทวน แล้วกลับมาสภาฯภายใน 1 สัปดาห์ ปรากฎว่าที่ประชุมลงมติด้วยคะแนนเสียง 16 ต่อ 5 เห็นด้วยกับมติที่ 1 โดยยอมให้กมธ.เสียงข้างน้อย เป็นผู้นำเสนอมาาตราที่ต้องแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 23 ที่แก้ไขไปแล้ว โดยให้ที่ประชุมรัฐสภา มีมติเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยร่วมกัน
นายชวน วินิจฉัยว่า เมื่อเป็นมติของที่ประชุมกมธ.ฯให้ทำอย่างนี้ ตนจึงต้องยึดตามที่รองประธานกมธฯ.รายงาน นี่คือเหตุผลที่ตนต้องยึดข้อตกลงของกมธ.ฯ
ด้านนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกมธฯ ประท้วงว่า สิ่งที่นายมหรรณพพูดนั้นพูดไม่ผิด แต่สิ่งที่ประธานรัฐสภา วินิจฉัยทางที่ประชุม กมธ.ฯ ยืนยันตามรายงานเดิม คือไม่ได้มีการแก้ไข ส่วนติ่งท้ายที่บอกว่า ให้กมธ.เสียงข้างน้อยนำเสนอถึงแม้จะเป็นมติ แต่แค่ 16 ต่อ 5 เสียงถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับ กมธ.ฯทั้งหมด เพราะมีงดออกเสียงและไม่ลงคะแนน มีคะแนนใกล้เคียงกัน ซึ่งไม่ใช่การแก้ไขรายงาน เป็นแค่การบอกว่าถ้าไปทำอะไรในสภาฯ ก็ให้กมธ.เสียงข้างน้อยไปเสนอ ก็ต้องดูว่าใช้อำนาจตามข้อบังคับข้อใด ที่จะเสนอในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย ซึ่งไม่ได้แปรญัตติไว้
นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขาฯกมธ.ฯ ชี้แจงว่า ระหว่างที่ไม่ได้มีการประชุม กมธ.เสียงข้างน้อยเห็นปัญหาว่ามีกระทบกับมาตราอื่นๆที่ยังไม่ได้พิจารณา จึงพยายามเสนอให้กมธ.ฯเรียกประชุมเพื่อหารือ ซึ่งเสียงส่วนมากในกมธ.ฯมีความเห็นว่าทำไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจ เรากระทำการโดยการทำรายงานเสร็จแล้วก็หมดหน้าที่ จะต้องให้ที่ประชุมรัฐสภาสั่งให้ทำถึงจะทำได้ จึงเป็นที่มาที่รองประธานกมธ.ฯ ขอพักการประชุม ซึ่งไม่มีเสียงคัดค้าน
แต่ปรากฎว่าในที่ประชุมกมธ.ฯ หลายส่วนเห็นว่าการแก้สูตรคำนวณบัญชีรายชื่อเป็น 500 หาร ขัดรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นการไปแก้มาตรการอื่นข้างหลังกระทำมิได้ จึงมีความเห็นแย้ง จึงเป็นมติที่ประชุมกมธ.ให้กมธ.เสียงข้างน้อยเป็นผู้เสนอ เพราะหากจะเอากลับไปพิจารณากันใหม่ เวลาของสภาฯเกี่ยวกับเรื่องนี้เหลือถึงวันที่ 15 ส.ค.ต้องเสร็จ ก็เกรงว่าจะมีปัญหาจึงให้เดินหน้าเสนอความเห็นมาเลย โดยใช้มติที่ประชุมให้ดำเนินการไป
ขณะที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว.ในฐานะรองประธานกมธ.ฯ อภิปรายว่า เสียงข้างน้อยได้เปลี่ยนเป็นเสียงข้างมากไปแล้ว ด้วยมติที่ประชุมรัฐสภา เห็นด้วยกับหาร 500 ดังนั้นนพ.ระวี สามารถดำเนินการได้ ว่าเกี่ยวข้องอย่างไร ถ้ารัฐสภาเห็นชอบก็เดินหน้าต่อไปได้ เช่นเดียวกันพ.ร.บ.ประชามติ และพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่เสียงข้างน้อยกลายเป็นเสียงข้ามาก
นายชูศักดิ์ ศิรินิล กมธ.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า รู้สึกเป็นห่วง กระบวนการพิจารณาในขณะนี้ โดยเฉพาะการที่ นพ.ระวี เสนอเพิ่มมาตราใหม่ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มข้อความใหม่ทั้งหมด แต่ต้องยอมรับว่ากมธ.ฯอีกหลายคนยังไม่ได้ดูรายละเอียดแม้แต่น้อย อย่างไรก็ตามมีกมธ.ฯ บางคนชี้ว่า การนำเสนอในลักษณะเช่นนี้เหมือนการแก้ไขกฎมายประชามติ และกฎหมายตำรวจนั้น บังเอิญว่าตนเป็นกมธ.ฯอยู่ในกฎหมายประชามติ อยากจะบอกว่าในครั้งนั้น ไม่มีประเด็นว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เหมือนกับร่างกฎหมายลูกฉบับนี้ ดังนั้นจึงเป็นคนละเรื่องกัน และตนเห็นว่าทางออกที่ดีที่สุดคือการเลื่อนการประชุมออกไปเสียก่อน เพื่อให้กมธ.ฯกลับไปทบทวนแก้ไขรายงาน
เช่นเดียวกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กมธ.ฯจากพรรคประชาชาติ อภิปรายว่า ขอเวลาให้กมธ.ฯและสมาชิกได้อ่านสิ่งที่กมธ.ฯเสียงข้างน้อยเสนอมาให้ละเอียดรอบคอบ ขออย่าเพิ่งแก้ไข ไม่เช่นนั้นจะเท่ากับว่า เป็นการแก้ไขแบบไม่เห็นหัวใคร
แต่นายมหรรรพ ยืนยันที่จะเดินหน้าต่อเพราะ จากการหารือของกมธ.ในนช่วงเช้า มีมติ 16 ต่อ 5 เสียง ให้เสียงข้างน้อยเสนอร่างมาตราใหม่ที่เกี่ยวข้อง ส่วนจะโต้แย้งว่าขัดหรือไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญนั้น วันนี้พวกเราก็คงเถียงกันไม่จบ สุดท้ายเรื่องนี้อย่างไรก็ต้องจบที่ศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน
ที่สุด นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธานกมธ.ฯ กล่าวว่า เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ จึงขอเสนอญัตติถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไปก่อน แล้วนำกลับมาพิจารณาต่อในโอกาสต่อไป เพราะต้องไปพิจารณาทั้งข้องบังคับและเนื้อหา โดยพิจาณาต่อจากมาตราที่พิจารณาค้างอยู่
ถอนโหวต 500 กมธ.ไปเคลียร์มา
ต่อมาเวลา 12.20 น. นายชวนสั่งลงมติ โดยที่ประชุมมีมติให้ถอนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวออกไป ด้วยคะแนน 476 ต่อ 25 งดออกเสียง 20 ไม่ออกเสียง 9 เป็นอันว่าถอนร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ออกไปก่อน โดยนายสาธิต นัดประชุมกมธ.ฯช่วงค่ำวันนี้(26 ก.ค.) และหากได้ข้อสรุป ก็อาจจะเสนอกลับเข้ามาที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 27 ก.ค.นี้
แต่นายสุขุมพงษ์ โง่นคำ กรรมาธิการ เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ต้องมีความรอบคอบอย่าเพิ่งนัดประชุมพิจารณาวันพรุ่งนี้ (27 ก.ค. 65) เลย เรายังมีเวลาพอ ตนคิดว่ากมธ.ควรไปศึกษาให้ละเอียด และสามารถเสนอเข้ามาใหม่ในวันจันทร์สัปดาห์หน้าก็ได้ ซึ่งนายชวนกล่าวว่าตนเห็นด้วย เพราะเป็นภาระกิจของกมธ. เมื่อที่ประชุมเห็นอย่างไรต้องปฏิบัติไปตามนั้น
ถกปม ปลดล็อกบุคคลต้องโทษ เป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้
ต่อมา ที่ประชุม พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับที่ พ.ศ. .. ตามที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว มีทั้งหมด 13 มาตรา ในวาระสอง โดยเป็นการพิจารณาเรียงลำดับรายมาตรา โดยในมาตรา4 /1 แก้ไขมาตรา 24 ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะร่วมเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง ซึ่งกมธ. พิจารณาเพิ่มบทบัญญัติขึ้นใหม่และมีกมธ.เสียงข้างน้อย รวมถึงสมาชิกรัฐสภาติดใจขอแปรญัตติ โดยเฉพาะประเด็นที่ขอสิทธิให้บุคคลที่ต้องโทษจำคุก , ผู้ที่เคยจำคุกและพ้นโทษมาแล้ว 5 ปี รวมถึง ส.ว. หรือบุคคลที่พ้นตำแหน่งส.ว. ไม่ครบ2 ปีสามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสามารถมีสมาชิกพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นได้
โดยนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า สิ่งที่เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของคนที่เป็นพลเมือง คือพลเมืองทุกคนในประเทศนี้มีสิทธิเท่าเทียมกัน ซึ่งงตนไม่สนใจว่าจะต้องโทษมาหรือไม่ หรือพ้นมาแล้วกี่ปี แต่หากจะตัดสิทธิในการเป็นกรรมการบริหารพรรค ตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตัดสิทธิความเป็นรัฐมนตรี ด้วยเงื่อนไขลักษณะเฉพาะบางประการ เช่นหากมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ก็ว่ากันไป เพราะวันนี้ยังมีคดีที่ค้างอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องคุณสมบัติของส.ส.อีกหลายคน ที่เคยต้องคำพิพากษาหรือต้องโทษจำคุกมายังไม่สิ้นสุด ซึ่งคนควรจะรู้คุณสมบัติขั้นพื้นฐานตั้งแต่ต้น ซึ่งเห็นว่าเมื่อพ้นโทษมาแล้วก็มีสิทธิ์เต็มที่ ไม่ควรมีกฎหมายจำกัดสิทธิ์ เราสามารถปลดล็อคให้เขามีที่ยืนได้ ดังนั้นควรให้นักโทษจำคุกทุกคน เป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้
นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า พรรคการเมืองเป็นสถานบันที่จำเป็นต้องมีสมาชิกหลากหลาย คนที่เคยล้มละลายมา ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว แต่เขามีแนวคิดทางการเมืองดีๆก็ได้ ทำไมต้องไปตัดสิทธิ์เขา และคนที่กระทำความผิดแบบที่กฎหมายกำหนดก็สามารถกลับตัวได้ แล้วจะตัดสิทธิ์ไม่ให้เขาเข้ามาเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองได้อย่างไร ร่างของกมธ.เสียงข้างมาก บอกเลยว่ากีดกันคนล้มละลาย ทั้งที่เป็นเรื่องส่วนตัว หรือบอกว่าพ้นโทษไม่ถึง10ปี ไม่ให้เป็นสมาชิกพรรค ทั้งที่เป็นเรื่องส่วนตัว และที่สำคัญเป็นบุคคลลักษณะต้องห้ามไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งตามมาตรา 98 (1) คือเป็นภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช ในศาสนาพุทธ ไม่สามารถที่จะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือตั้งพรรคการเมืองได้ ทำไมนักพรต นักบวชในศาสนาอื่น ที่ไม่ใช่ศาสนาพุธ มีสิทธิ์เป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ มีสิทธิ์ก่อตั้งพรรคการเมืองได้
นายธีรัจชัย กล่าวต่อว่า ร่างของกมธ.เสียงข้างมากเป็นการจำกัดสิทธิ์อย่างมากมาย เราใช้แนวคิดเสรีนิยมมาใช้ไม่ได้หรือ ทำไมต้องใช้แนวคิดเผด็จการ เราหาคนดีไม่ได้ หรือคนดีคือคนที่มีบุญคุณกับท่าน ดังนั้นการเปิดโอกาสให้คนทุกเพศทุกวัย ทุกชาติ ทุกศาสนา คนทำผิดซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวมีสิทธิ์ชอบธรรมในการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง จึงเห็นว่าควรตัดมาตรานี้ออกไป แต่ควรจะเปิดเสรี เชื่อว่าจะทำให้พรรคการเมืองเติบโตเข้มแข็ง เติบโตจากประชาชนไม่ใช่เติบโตจากฝ่ายเผด็จการบางคน หรือลูกน้องเผด็จการบางคนที่ออกกฎหมายมาบีบให้พรรคการเมืองไม่เติบโตหรือแคระแกรน
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว.ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า เรื่องนี้ต้องคิดอย่างรอบคอบ ความเห็นต่างของตนคือพรรคการเมืองไม่ใช่ของผู้ก่อตั้งพรรค ผู้บริหารพรรค และไม่ใช่ของสมาชิกพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองทุกพรรคเป็นของประชาชน จึงเห็นว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนจะไปเป็นสมาชิกพรรคใดก็ได้ และควรมีข้อจำกัดเท่าที่จำเป็น คนที่เคยเป็น ส.ว. ส.ส. หรือคนที่เคยทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่อพ้นตำแหน่งไปแล้ว ถูกห้ามไม่ให้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองทั้งที่ก็เป็นพลเมืองไทยเหมือนกัน
“เห็นด้วยจำกัดสิทธิ แต่ต้องมีเหตุผลและต้องพิจารณาความจำเป็น เพื่อจำกัดคนไม่ดี ไม่ควรให้สมัครเป็นส.ส. หากลอกมาทั้งหมดห้ามคนที่ไม่ควรเป็นส.ส. ห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเยอะเกินไป ทั้งนี้ผมไม่เห็นด้วยที่จะห้าม อดีตส.ว.เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ที่บอกว่าจะไปเอื้อประโยชน์ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น ถูกห้ามไว้แล้วในกฎหมายอื่น ถูกห้ามเป็นตลอดชีพ ทั้งรัฐมนตรี ผู้บริหาร องค์กรอิสระ ตุลาการ ดังนั้นการห้ามไม่ให้อดีตส.ว.เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเยอะเกินไป” นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว
ภายหลังจากที่ที่ประชุมอภิปรายแล้วเสร็จได้ลงมติ ที่ประชุมลงมติ 262 ต่อ 51 เสียง เห็นชอบกับเนื้อหาที่กมธ.เพิ่มขึ้นใหม่ งดออกเสียง 126 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง
ตัด ‘ไพรมารีโหวต’ ออก
ต่อมาที่ประชุมพิจารณา มาตรา 6 แก้ไขมาตรา47 เกี่ยวกับให้ตัวแทนพรรคการเมืองหรือสาขาพรรค สรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบ่งเขต โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า แก้ไขแบบนี้เท่ากับเป็นการตัดวรรคสองของมาตรา 47 เดิม ซึ่งในวรรคนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำไพรมารีโหวต เป็นการทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสรรหาตัวผู้สมัครส.ส. ซึ่งถือเป็นหัวใจของการปฏิรูปการเมือง ดังนั้น ตนจึงขอเสนอให้ตัดมาตรา 47 ที่กมธ.แก้ไข แล้วให้กลับไปใช้มาตรา 47 ของเดิม
จากนั้นที่ประชุมลงมติยืนตามที่กมธ.แก้ไข ด้วยคะแนน 354 ต่อ15 งดออกเสียง3 ไม่ออกเสียง2 เสียง อย่างไรก็ตามในมาตรา 7 แก้ไขมาตรา 48 เกี่ยวกับให้ตัวแทนพรรคการเมืองหรือสาขาพรรค สรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ นั้น นายเสรีก็ได้อภิปรายซ้ำในลักษณะเดิมเหมือนกับมาตรา 6 ไม่ต้องการให้ตัดการทำไพรมารีโหวตออก แต่ไม่ติดใจแล้ว เนื่องจากแนวคิดของตนได้แพ้ไปตั้งแต่มาตรา 6 ทั้งนี้ ที่ประชุมลงมติยืนตามกมธ.เสียงข้างมากแก้ไข ด้วยคะแนน 356 ต่อ 22 งดออกเสียง 2 ไม่ออกเสียง 5 เสียง