'851 แพทย์-ศิษย์ รพ.รามาฯ' เรียกร้องให้รัฐปิดสภาวะกัญชาสุญญากาศทันที แนะจัดให้มีกระบวนการรับฟังผู้เกี่ยวข้องรอบด้าน 'ราชบัณฑิตยสภา' ออกแถลงจุดยืนชี้ต้องใช้เพื่อการแพทย์เท่านั้น ห้ามสันทนาการเด็ดขาด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2565 ราชบัณฑิตยสภาพ ออกแถลงการณ์จุดยืนของการใช้กัญชาและผลิตภัณฑ์ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ระบุว่า
ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 วรรคสอง แห่ง ประมวลกฎหมายยาเสพติด ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. 2565 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565) ข้อ 1 (3) กำหนดให้ 'สารสกัดจากทุกส่วนของกัญชาหรือกัญชง ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis ยกเว้นสารสกัดดังต่อไปนี้ (ก) สารสกัดที่มีสารเททระไฮโดรแคนนาบินอล (ทีเอชซี) [tetrahydrocannabinol, (THC)] ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ (ข) สารสกัดจากเมล็ดของพืชกัญชาหรือกัญชงที่ได้จากการปลูกภายในประเทศ'
เป็นผลให้ทุกส่วนของพืชกัญชาไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 อีกต่อไป ทั้งนี้มีผลเมื่อครบกำหนด 120 วัน ตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตรงกับวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา
ราชบัณฑิตยสภา ในฐานะองค์กรปราชญ์ของแผ่นดิน 'เป็นสถานที่บำรุงสรรพวิชา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาขึ้น มีวัตถุประสงค์ที่จะค้นคว้าและวิจัยเพื่อเผยแพร่ ส่งเสริม แลกเปลี่ยนความรู้ พัฒนา อนุรักษ์ และให้บริการทางวิชาการให้เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศและประชาชน'
สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ได้เฝ้ามองและติดตามผลจากการออกประกาศดังกล่าวด้วยความห่วงใยต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต ประกอบกับในช่วงสุญญากาศที่รัฐสภากำลังพิจารณาร่างกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ราชบัณฑิตยสภา จึงขอเสนอ
-
ให้รัฐมีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาเฉพาะในทางการแพทย์เท่านั้น และจัดให้มีมาตรการป้องปรามมิให้มีการนำไปใช้เพื่อนันทนาการโดยเด็ดขาด และขอให้รัฐออกมาตรการควบคุมการโฆษณาในสื่อต่าง ๆ ทุกรูปแบบ เพื่อไม่ให้เป็นตัวอย่างหรือเป็นภาพชินตาของการใช้กัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาต่อเด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป ในระยะยาว
-
การใช้กัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาในทางการแพทย์ ควรมีผลการวิจัยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และให้มีหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนด้านประสิทธิศักย์ (efficacy) ความปลอดภัย (safety) และคุณภาพ (quality) อย่างแท้จริง ก่อนที่จะอนุญาตให้มีการใช้ในวงกว้าง นอกจากนั้น การผลิตวัตถุดิบกัญชาที่ใช้ทางการแพทย์ รัฐควรจัดให้มี 'แนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับเกษตรกรรมและการเก็บเกี่ยว (จีเอซีพี) [Good Agricultural and Collection Practice (GACP)]' เพื่อประกันคุณภาพและความปลอดภัยของวัตถุดิบกัญชา
-
ให้รัฐจัดให้มีการติดตามและเฝ้าระวังเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์และผลข้างเคียงของกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาตามหลักวิชาการที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติอย่างเคร่งครัด และควบคุมการใช้ในทางที่ผิด เพื่อป้องกันปัญหาระยะยาวอันเกิดจากกัญชาที่มีต่อสุขภาพ สังคม และประเทศชาติ ในอนาคต
แพทย์รามา 851 รายชื่อ แสดงจุดยืนปิดสภาวะกัญชาเสรีทันที
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2565 แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านต่อยอด อาจารย์แพทย์ และศิษย์เก่าแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 851 รายชื่อ ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอแสดงจุดยืนและเรียกร้องให้ปิดสภาวะกัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศทันที
โดยในแถลงการณ์ได้ระบุว่า เนื่องจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 พ.ศ.2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมาได้กำหนดให้พืชกัญชาไม่เป็นยาเสพติด แต่ไม่มีนโยบายควบคุมการใช้กัญชาอย่างครอบคลุมและปลอดภัย จึงทำให้มีการใช้กัญชาอย่างเสรีในเชิงนันทนาการอย่างแพร่หลาย นำไปสู่การเข้าถึงการใช้กัญชาของเด็ก และเยาวชน ซึ่งผิดจากเหตุผลของการออกนโยบายกัญชาเสรีที่รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องเคยกล่าวอ้างว่าต้องการให้ประชาชนได้เข้าถึงกัญชาทางการแพทย์มากขึ้น นอกจากนี้การใช้กัญชาอย่างเสรีโดยปราศจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์นั้นมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนมากมายว่า ส่งผลกระทบต่อร่างกาย และการเจริญเติบโตของสมองในเด็ก และวัยรุ่นอย่างมาก สถานการณ์ในปัจจุบันนี้จึงนับว่าเป็นภัยคุกคามต่อระบบสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชนทั้งในระยะสั้น และระยะยาวอย่างแท้จริง
แพทย์ประจำบ้าน แทพย์ประจำบ้านต่อยอด อาจารย์แพทย์และศิษย์เก่าแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ตามรายชื่อแนบ 851 รายชื่อ ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทย เล็งเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปิดใช้กัญชาเสรีโดยไม่มีการกำกับควบคุมอย่างเหมาะสมในขณะนี้
จึงขอแสดงจุดยืนสนับสนุน จดหมายเปิดผนึกฉบับที่สองของเครือข่ายนักวิชาและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด ที่ขอให้ออกมาตรการ 'ปิดสภาวะกัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศทันที' และ 'จัดให้มีกระบวนการรับฟังผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อร่วมกันออกแบบนโยบายกัญชาแห่งประเทศไทย' และ แคมเปญ 'ชะลอกัญชาเสรีขอออกกฎหมายคุ้มครองไม่ให้เด็กใช้กัญชาออกมาก่อน' บนช่องทาง change.org ของภาคประชาชน
ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 6,000 คน เพื่อให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องหยุดภัยคุกคามทางสุขภาพในครั้งนี้โดยเร็วที่สุด รวมถึงปรับแก้ให้ใช้งานกัญชาได้ประโยชน์อย่างสูงสุดทางการแพทย์โดยควบคุมและป้องกันผลกระทบต่อประชาชนให้เกิดน้อยที่สุด ดังเช่นเหตุของการออกนโยบายแต่เดิมที่เคยกล่าวอ้างไว้