ครม.เคาะ ขสมก. กู้ 7,516 ล้านบาท เสริมสภาพคล่อง ชสมก.ปี 66 ชี้เป็นการกู้คนละก้อนในงบปี 66 ที่ทำไว้แล้ว 4.2 หมื่นล้าน ก่อนเปิดภาระหนี้สะสม ขสมก. ทะยาน 1.32 แสนล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ประจำปีงบประมาณ 2566 รวมจำนวน 7,516 ล้านบาท และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ กำหนดวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆในการกู้เงิน
โดยกระทรวงคมนาคมรายงานว่า ขสมก.ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากผลประกอบการที่ขาดทุนและไม่ได้รับเงินชดเชยผลการขาดทุนตามจำนวนที่เกิดขึ้นจริง
ทั้งนี้มีสาเหตุหลักมาจากการที่ ขสมก.เก็บค่าโดยสารตามอัตราที่ภาครัฐกำหนดซึ่งต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง และไม่สามารถปรับอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นตามสภาวการณ์ปัจจุบันได้ จึงส่งผลให้มีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน ภาระหนี้สินสะสม และดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ประกอบกับปัจจุบัน ขสมก.อยู่ระหว่างดำเนินการทบทวนร่างแผนฟื้นฟูกิจการขสมก.ฉบับปรับปรุงใหม่ ทำให้ขสมก.ยังคงมีหนี้สินค้างชำระรวมทั้งสิ้น 132,565 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามขสมก.ได้จัดทำประมาณการเงินสดรับ-จ่าย ในปีงบประมาณ 2566 คาดว่าจะมีเงินสดคงเหลือปลายงวดขาดมือจำนวน 42,640 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอที่จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ดังนั้น เพื่อให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินและสามารถทำให้องค์กรบริหารจัดการต่อไปได้ ขสมก.จึงมีความจำเป็นต้องกู้เงินจำนวน 42,640 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งจะนำไปชำระคืนหนี้เงินกู้เดิมที่ครบกำหนดชำระและไถ่ถอนพันธบัตรเงินกู้ จำนวน 35,123 ล้านบาท ซึ่งได้นำเสนอสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อบรรจุเข้าแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 แล้ว จึงคงเหลือเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน และเป็นเงินสดหมุนเวียนในการดำเนินงานของขสมก.ในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 7,516 ล้านบาท เป็นการชำระค่าเชื้อเพลิงวงเงิน 2,250 ล้านบาท, ชำระค่าเหมาซ่อม 1,422 ล้านบาท และเสริมสภาพคล่องทางการเงิน 3,844 ล้านบาท
ทั้งนี้ ขสมก. รายงานว่า การกู้เงินในครั้งนี้ จะทำให้สามารถประหยัดค่าดอกเบี้ยค้างชำระได้เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่กู้เงินที่ภาระดอกเบี้ยค่าเชื้อเพลิงอยู่ที่ร้อยละ 5.82 ต่อปี ค่าเหมาซ่อมอยู่ที่ร้อยละ 6.35 ต่อปี รวมเป็นดอกเบี้ยที่ต้องชำระ 221.27 ล้านบาทต่อปี แต่หากกู้เงินต้นทุนดอกเบี้ยจะปรับลดลงเหลือเฉลี่ยร้อยละ 1.098 ต่อปี รวมดอกเบี้ยที่ต้องชำระ 40.324 ล้านบาท หรือประหยัดดอกเบี้ยได้ 180.95 ล้านบาท
ด้าน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้สอบถามในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับความคืบหน้าการใช้รถเมล์ไฟฟ้า (EV) ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม รายงานต่อที่ประชุม ครม. ว่า ภายในปีนี้จะมีรถเมล์ไฟฟ้าออกมาวิ่งให้บริการประชาชน จำนวน 1,000 คัน