ครม.อนุมัติเงินรวม 3,995 ล้านบาท ให้ สธ.ซื้อ ‘ฟาวิพิราเวียร์-โมลนูพิราเวียร์’ เฉลี่ย 27 ล้านเม็ดต่อเดือน ส่วน ‘เรมเดพิราเวียร์’ 5.7 หมื่นหลอดต่อเดือน รวมถึงจ่ายเงินค้างชำระ สำหรับซื้อยาและชุดตรวจ ATK ช่วงเดือน มี.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา 'ธนกร' ยันไทยไม่ขาดแคลนยารักษาโควิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการจัดหายารักษาผู้ป่วยโควิด-19 กรอบวงเงิน 3,995.27 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือนระวห่าง ก.ค.-ก.ย.2565
สำหรับวงเงินดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้ 1.ซื้อยารักษาโควิด 1,317.96 ล้านบาท ประกอบด้วย ยาฟาวิพิราเวียร์ และ ยาโมลนูพิราเวียร์ เฉลี่ย 27 ล้านเม็ดต่อเดือน วงเงิน 1,296 ล้านบาท และยาเรมเดซีเวียร์ 57,000 หลอดต่อเดือน วงเงิน 21.96 ล้านบาท 2.จ่ายเงินค้างชำระการจัดซื้อระหว่างเดือน มี.ค.-มิ.ย.2565 จำนวน 2,677.31 ล้านบาท สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์และยาโมลนูพิราเวียร์ 165 ล้านบาท วงเงิน 2,653.81 ล้านบาท และค่าชุดตรวจ ATK 1 ล้านชุด วงเงิน 23.50 ล้านบาท
นายธนกร กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กำชับให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์โควิด หลังเพิ่งผ่านวันหยุดยาว 5 วัน พร้อมย้ำเรื่องการสวมหน้ากากและการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข และกรมประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาสุขภาพ ขณะเดียวกันยังกำชับในเรื่องของการจัดงาน จัดกิจกรรมในทุกพื้นที่ โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่า เราไม่สามารถกลับไปที่เก่า
นายธนกร กล่าวชี้แจงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าไทยขาดแคลนยารักษาโควิด ว่า กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่าเรามีความพร้อมในเรื่องเวชภัณฑ์ และมีสำรองอยู่เพื่อใช้ในการดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง แต่ต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่ว่าใครติดโควิดแล้วต้องให้ยากดังกล่าวเลย เพราะต้องทำตามคำแพทย์แนะนำ ส่วนตัวป่วยเป็นโควิดก็รักษาตามอาการ ส่วนการให้ยาฟาวิพิราเวียร์หรือโมลนูพิราเวียร์ต้องให้ตามคำแนะนำของแพทย์