‘กฟผ.’ วอนภาครัฐช่วยเหลือ หลังรับภาระค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าแล้วเกือบ 1 แสนล้าน แจงกำไรสะสม 3.2 แสนล้าน ไม่ใช่เงินสด แต่เป็นมูลค่าสินทรัพย์ที่นำกำไรบางส่วนไปลงทุน ขณะที่ ‘กบน.’ เลื่อนถกทบทวน 'ดีเซล' ส่งผลให้ราคาขายปลีกตรึงอยู่ที่ลิตรละ 34.94 บาท
...................................
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากปัญหาวิกฤตราคาพลังงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่งวดเดือน ก.ย.2564 จนถึงปัจจุบัน กฟผ.ร่วมรับภาระค่าไฟฟ้ากับประชาชนตามแนวทางบริหารค่าไฟฟ้ารวมแล้วเกือบ 1 แสนล้านบาท จึงอยากขอให้ภาครัฐเข้ามาดูแล เพื่อไม่ให้กระทบต่อความความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว
“แม้ กฟผ. จะพยายามแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องแล้วจำนวน 25,000 ล้านบาท แต่ยังไม่เพียงพอต่อการแบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงที่เกินกำลัง เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กฟผ. จึงมีความจำเป็นต้องแจ้งต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ถึงต้นทุนเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นจริง และวอนรัฐช่วยดูแล เพื่อไม่ให้กระทบต่อความความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว” นายบุญญนิตย์ กล่าว
นายบุญญนิตย์ ระบุว่า กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่มิได้มุ่งแสวงหากำไร โดยราคาค่าไฟฟ้าและกำไรของ กฟผ. ถูกกำกับโดย กกพ. ให้มีรายได้เพียงพอต่อการลงทุนและบริหารกิจการเท่านั้น ขณะที่ กำไรของ กฟผ. จะถูกนำส่งกระทรวงการคลังเป็นเงินรายได้แผ่นดินเพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศด้านอื่นๆ รวมถึงลงทุนในระบบไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและส่งไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงทางพลังงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล
ส่วนกำไรสะสมของ กฟผ. จำนวน 3.29 แสนล้านบาท ที่ปรากฎในงบแสดงฐานะทางการเงินนั้นไม่ใช่เงินสด แต่เป็นการแสดงตัวเลขสะสมของมูลค่าสินทรัพย์ที่ กฟผ. นำกำไรส่วนที่เหลือจากการนำส่งกระทรวงการคลังในแต่ละปีไปลงทุนในรูปของสินทรัพย์ที่ใช้ผลิตและส่งไฟฟ้าให้แก่ประชาชน อาทิ โรงไฟฟ้า สถานีส่งไฟฟ้า สายส่งไฟฟ้า ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกิจการ จึงไม่สามารถนำกำไรสะสมดังกล่าวมาจ่ายชดเชยค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นได้
“กฟผ. ยังคงติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด และร่วมกับภาครัฐบริหารจัดการเชื้อเพลิงเพื่อลดภาระค่าเชื้อเพลิงและต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า เช่น ปรับแผนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงที่มีต้นทุนถูกก่อน เลื่อนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ใช้ถ่านหินในประเทศซึ่งเป็นเชื้อเพลิงราคาถูกในการผลิตไฟฟ้า ควบคู่กับการดำเนินมาตรการประหยัดพลังงานอย่างเข้มข้น” นายบุญญนิตย์ กล่าว
นายบุญญนิตย์ กล่าวว่า ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยประเทศให้ก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้ด้วยการประหยัดพลังงาน
ด้าน นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) แจ้งสื่อมวลชนว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้เลื่อนการประชุม กบน. ในวันนี้ (18 ก.ค.) ออกไปก่อน ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลยังคงอยู่ที่ลิตรละ 34.94 บาท ขณะที่ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีการอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ประมาณลิตรละ 3 บาท
สำหรับประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบัน วันที่ 17 ก.ค. 2565 พบว่ากองทุนน้ำมันฯติดลบ 112,935 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 74,162 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 38,773 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
คาดสูญรายได้ 2 หมื่นล้าน! ‘ครม.’ เคาะต่ออายุลดภาษีสรรพสามิต ‘ดีเซล’ ออกไปอีก 2 เดือน
‘กบน.’ไฟเขียวตรึงราคาขายปลีก‘ดีเซล’ลิตรละ 34.94 บาท-กองทุนน้ำมันฯติดลบ 1.07 แสนล้าน
ครม.เคาะดึงกำไร‘โรงกลั่นฯ-โรงแยกก๊าซ’อุดหนุน‘ดีเซล'ไม่เกินลิตรละ 35 บาท-ลดราคาเบนซิน
ดีเซลลิตรละ 34.94 บาทเท่าเดิม! 'กบน.'ยังไม่ทบทวนราคา-กองทุนน้ำมันฯติดลบ 9.6 หมื่นล.
‘กบน.’ เคาะขึ้นราคา ‘ดีเซล’ แตะลิตรละ 34.94 บาท-'กองทุนน้ำมันฯ' ติดลบ 9.1 หมื่นล้าน
ขึ้นอีก 1 บาท! ‘กบน.’ เคาะปรับราคาขายปลีก ‘ดีเซล’ เป็นลิตรละ 33.94 บาท มีผล 7 มิ.ย.นี้
'กบน.'เคาะตรึงราคา'ดีเซล'ลิตรละ 32 บาท อีก 1 สัปดาห์-กองทุนน้ำมันฯติดลบ 7.6 หมื่นล.
‘กบน.’คงราคาขายปลีก‘ดีเซล’ลิตรละ 32 บาท-จับตาสิ้นปี‘กองทุนน้ำมันฯ’ติดลบทะลุ 1 แสนล.
ครม.เคาะลดภาษีน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาทนาน 2 เดือนมีผล 21 พ.ค.-20 ก.ค.
มีผล 31 พ.ค.นี้! ‘กบน.’ ไฟเขียวขึ้น ‘ดีเซล’ เป็นลิตรละ 33 บาท หลังราคาน้ำมันโลกเพิ่ม