‘กบน.’ มีมติคงราคาขายปลีก ‘ดีเซล’ ลิตรละ 32 บาท แม้ว่า ‘ครม.’ จะไฟเขียวให้ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท ระบุต้อง ‘ภาษี’ ที่ลดลงได้ไปเสริม ‘สภาพคล่อง’ กองทุนฯ เพื่อให้ตรึงราคาที่ 32-35 บาท/ลิตร ให้นานที่สุด ชี้มีความเป็นไปได้กองทุนฯจะติดลบทะลุ 1 แสนล้าน ภายในสิ้นปีนี้ หากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง
...................................
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ว่า ที่ประชุม กบน.ได้พิจารณาทบทวนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลประจำสัปดาห์ และมีมติให้คงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในสัปดาห์นี้หรือไปจนถึงวันที่ 22 พ.ค.2565 ไว้ที่ระดับ 32 บาท/ลิตรเท่าเดิม โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการพิจารณาว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันเป็นอย่างไร ก่อนจะทบทวนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอีกครั้ง
“อาทิตย์หน้าจะต้องมาดูอีกทีว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันเป็นอย่างไร น้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นไปในทิศทางไหน และราคาน้ำมันดีเซลโลกเป็นอย่างไร เพราะยังมีสงครามอยู่ ซึ่งตอนนี้น้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 106-110 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดีเซลโลกก็ผันผวนมาก เช่น สัปดาห์ก่อนน้ำมันดีเซลโลกขึ้นไป 150 ดอลลาร์ แล้วลงมาที่ 138 ดอลลาร์ จากนั้นก็ขึ้นไปใหม่ พอมาอาทิตย์นี้มาอยู่ที่ 142-146 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล” นายกุลิศ กล่าว
นายกุลิศ ระบุว่า กบน.จะพยายามตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 32 บาท/ลิตร ให้นานที่สุด แม้ว่ากรอบราคาตอนนี้ต้องอยู่ที่ 35 บาท/ลิตรแล้ว เพราะขณะนี้กองทุนน้ำมันฯมีภาระสนับสนุนน้ำมันดีเซลที่ 9.41 บาท/ลิตร หากอุดหนุนราคาที่ 50% ราคาจะต้องขึ้นเป็นที่ 35 บาท/ลิตรแล้ว ส่วนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาท/ลิตร นั้น ก็เพื่อช่วยให้กองทุนฯมีสภาพคล่องในการตรึงราคาดีเซลไว้ที่ 32-34 บาท/ลิตร ได้ต่อไป
“คนก็ถามว่าภาษีลดลงไป 5 บาทแล้ว ทำไมเรายังไม่ลดราคาน้ำมันหน้าปั๊มลงมาเป็น 31.94 บาท/ลิตร อีก ขอเรียนว่า การลดภาษีน้ำมันตรงนี้ ก็เพื่อสนับสนุนให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถดูแลราคาน้ำมันให้กับประชาชนที่ 32-34 บาท/ลิตร ให้ยาวต่อไป ไม่ใช่ได้มา 5 บาทแล้ว แล้วเอามาลดจาก 32 บาทเลย เพราะ ณ วันนี้กองทุนน้ำมันฯ ติดลบสูงถึง 7.2 หมื่นล้านบาทแล้ว โดยเป็นการอุดหนุนดีเซล 3.8 หมื่นล้าน และอุดหนุน LPG อีก 3.4 หมื่นล้าน” นายกุลิศ กล่าว
นายกุลิศ อธิบายต่อว่า แม้ว่า ครม.ได้มีมติลดภาษีสรรพสามติน้ำมันดีเซล 5 บาท/ลิตร แต่อัตราการลดภาษีน้ำมันดีเซลแต่ละประเภทจะแตกต่างกัน เพราะฐานคำนวณภาษีจะเป็นไปตามสัดส่วนน้ำมันดีเซลที่ผสมอยู่ในน้ำมันไบโอดีเซล (B100) เช่น กรณีฐานภาษี B5-B7 เดิมเก็บภาษีสรรพสามิตที่ 5.99 บาท/ลิตร เมื่อมีลดภาษีดังกล่าวจะทำให้ภาษีลดลงไปจริงๆ 4.65 บาท/ลิตร ส่งผลให้อัตราภาษีดีเซล B5-B7 ใหม่ จะจัดเก็บที่ 1.34 บาท/ลิตร จากเดิม 5.99 บาท/ลิตร
ขณะที่ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล B5-B7 ที่ลดลงไป 4.65 บาท/ลิตร นั้น จะนำไปช่วยลดการสนับสนุนราคาน้ำมันดีเซลของกองทุนน้ำมันฯ เช่น วันนี้กองทุนน้ำมันฯต้องอุดหนุนราคาดีเซลในอัตรา 9.41 บาท/ลิตร ซึ่งภาษีที่ลดลง 4.65 บาท/ลิตร จะนำไปลดการสนับสนุนของกองทุนน้ำมันฯลง 2.46 บาท/ลิตร ทำให้กองทุนฯสนับสนุนราคาน้ำมันดีเซลเพียง 7.25 บาท/ลิตร ซึ่งจะช่วยยืดเวลาการช่วยตรึงราคาน้ำมันดีเซลของกองทุนฯที่ระดับ 32-34 บาท/ลิตร ต่อไปได้
“ถ้าโชคดีราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง เช่น ถ้าราคาลงเหลือ 100-150 ดอลลาร์ น้ำมันดีเซล 138-140 ดอลลาร์ กองทุนฯก็จะลดการช่วยเหลือลงมาเหลือ 5-6 บาท/ลิตร และทำให้เราคงราคาน้ำมันดีเซลที่ 32-33 บาท/ลิตร ต่อไปได้ ไม่ต้องขึ้นถึง 34-35 บาท/ลิตร อย่างไรก็ตาม การปรับเพดานราคาจะต้องดูเป็นรายสัปดาห์” นายกุลิศ กล่าว
นายกุลิศ กล่าวว่า แนวโน้มราคาน้ำมันต่อจากนี้ไปไม่น่าจะลงไปกว่านี้ เพราะจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ที่ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น และมีโอกาสจะได้ราคาน้ำมันดิบในเดือน พ.ค.นี้ เคลื่อนไหวที่ระดับ 110-115 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลโลกจะอยู่ที่ 141-150 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จึงมีความเป็นได้ที่ กบน.จะต้องปรับเพิ่มราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลจากปัจจุบันที่อยู่ที่ระดับ 32 บาท/ลิตร ภายในเดือน พ.ค.นี้
นายกุลิศ ระบุว่า ปัจจุบันสถานะกองทุนน้ำมันฯติดลบ 7.2 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มว่ากองทุนฯจะติดลบไปถึง 1 แสนล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้ได้ หากราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูงเช่นนี้ และไม่มีเงินกู้เข้ามา ส่วนการกู้เงินจากสถาบันการเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนฯ นั้น อยู่ระหว่างดำเนินการ
อ่านประกอบ :
ครม.เคาะลดภาษีน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาทนาน 2 เดือนมีผล 21 พ.ค.-20 ก.ค.