‘ชัชชาติ’เซ็นคำสั่ง กทม. เปิดเผยข้อมูลขึ้นระบบดิจิทัล มีผลเมื่อ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา วาง 6 แนวทางนำข้อมูลงบประมาณ, การจัดซื้อจัดจ้าง และการจัดเก็บรายได้ พร้อมสั่งให้รายงานผลดำเนินการททุกๆ 90 - 180 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงนามใน คำสั่งกทม. ที่ 1564/2565 เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลกรุงเทพมหานคร มีผลตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค. 65 มีสาระสำคัญ 6 ประการ ดังนี้
1. ปฏิบัติตามประกาศ กทม. ฉบับลงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 เรื่อง ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐของ กทม. ส่วนที่ 1 โดยการจัดทำข้อมูล กทม. ในฐานะทรัพย์สิน เพื่อการเปิดเผยข้อมูลเปิด กทม. ต้องสอดคล้องกับนโยบายและกฎหมายที่ส่งเสริมความโปร่งใส การใช้ประโยชน์จากข้อมูล และการบูรณาการข้อมูลระหว่าง กทม. กับหน่วยงานรัฐอื่นๆ, กทม.กับเอกชน และประชาชน ทั้งนี้ นโยบายข้อมูลเปิดต้องได้รับการปรับปรุงตามความจำเป็น
2. ต้องทำตามนโยบายข้อมูลเปิด (Open Data Policy) ภายในกรอบเวลาที่กำหนดไว้ และต้องคำนึงถึงกฎหมาย นโยบาย ความเป็นส่วนตัว การรักษาความลับ ความมั่นคงของชาติ และความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทุกด้าน
3. ให้ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงของ กทม. (Ministry Chief Information Officer: MCIO) และผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงประจำหน่วยงาน (Department Chief Information Officer: DCIO) รวบรวมและเผยแพร่เครื่องมือทางดิจิทัลและแนวปฏิบัติที่ดีภายใน 30 วัน นับถัดจากวันที่ออกคำสั่งนี้
4. สำนักงบประมาณ, สำนักการคลัง และสำนักยุทธศาสตร์และการประเมินผล ต้องร่วมกันกำหนดมาตรการสนับสนุนการบูรณาการข้อกำหนดนโยบายข้อมูลเปิด ซึ่งรวมไปถึงการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง และการจัดเก็บรายได้ของ กทม. ภายใน 90 วันนับถัดจากวันที่อออกคำสั่งนี้
5. ให้คณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐของ กทม. กำหนดเป้าหมายการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานให้แล้วเสร็จ และนำเสนอคณะผู้บริหาร กทม. เพื่อพิจารณา รวมทั้งร่วมกับทุกหน่วยงาน เพื่อกกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัดที่ท้าทาย และแนวทางการติดตามความก้าวหน้าของหน่วยงานตามค่าเป้าหมายภายใน 90 วัน นับถัดจากวันที่ออกคำสั่งนี้
และ 6. ให้ทุกหน่วยงานรายงานผลการดำเนินการตามข้อ 1,2 และ 4 ภายใน 180 วัน นับถัดจากวันที่ออกคำสั่งนี้ แะรายงานผลการดำเนินการตามค่าเป้าหมายและตัวชี้วัดตามข้อ 5 ทุกๆ 90 วัน ให้คณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐของ กทม. ทราบ
ย้อนส่องนโยบายเปิดข้อมูลช่วงหาเสียง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ใน 216 นโยบายที่นายชัชชาติหาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ในส่วนของที่เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ 4 นโยบาย ได้แก่
1. การเปิดเผยข้อมูลศักยภาพสูงของ กทม. (Open Bangkok) โดยจะจัดระบบเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมให้มีคุณภาพ ไม่ซ้ำซ้อน เป็นปัจจุบัน และครอบคลุมข้อมูลศักยภาพสูง (Hign Value Dataset ของ DCA) เช่น ข้อมูลด้านการศึกษา, การเงิน, สุขภาพ และสถิติ เป็นต้น
2. การเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างครอบคลุมทั้งของ กทม. และ กรุงเทพธนาคม จะเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างที่ครอบคลุมทั้งข้อมูลของ กทม. แลละองค์กรที่อยู่ในการดูแลของกทม. เช่น กรุงเทพธนาคม เป็นต้น ครอบคลุมรายละเอียดตั้งแต่ การวางแผนโครงการ, การยื่นซองราคา, การตัดสินผู้ชนะ, การจัดทำสัญญา และการดำเนินโครงการ
3. โรงเรียนประสิทธิภาพสูงด้วย Open Data เปิดเผยข้อมูลของโรงเรียนในมิติต่างๆ เช่น การใช้งบประมาณ, แผนการดำเนินการ, ตัวชี้วัด, ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และผลการประเมินคุณภาพโรงเรียน โดยจะนำข้อมูลขึ้นไปอยู่บนระบบ Cloud พร้อมแสดงผลบน Dashboard ที่สามารถเข้าใจง่าย
และ 4. เปิดข้อมูลการเดินทางในกรุงเทพฯ ให้เป็นสาธารณะ กทม.จะเป็นเจ้าภาพประสานความร่วมมือขอข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางจากกระทรวงคมนาคม และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากไม่สามารถทำได้ จะร่วมกับภาคเอกชนในการพัฒนาระบบเก็บข้อมูลการเดินทาง อาทิ ข้อมูลขนส่งสาธารณะจาก CCTV, ประสาน Google Map เชื่อมต่อข้อมูลในเขตกทม.และปริมณฑล ทั้งระบบรถ จักรยานยนต์ จักรยาน ราง เรือ ทางข้าม แลละระบบอื่นๆที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
4 นโยบาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ช่วงหาเสียงผู้ว่ากทม. ที่เกี่ยวกับ Open Data