สภากทม. ผ่านข้อบัญญัติงบปี 66 วงเงิน 7.9 หมื่นล้านแล้ว ตั้ง กมธ. 62 คน สแกน-แปรญัตติ 45 วัน ก่อนดันร่างเข้าพิจารณา เพื่อประกาศใช้ 18 ส.ค. 65 ด้าน ‘ชัชชาติ’ ขอบคุณ ส.ก. อภิปรายสารพัดปัญหา พร้อมรับทุกเรื่องไปดูแลต่อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวนฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตคลองสามวา ในฐานะโฆษกสภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) เปิดเผยว่า การประชุม สภากทม.สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 1) ประจำปี 2565 ซึ่งนายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากกทม. เป็นประธานการประชุม ใช้เวลาการพิจารณาร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พ.ศ. ... ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 โดยในวันนี้ (7 ก.ค.) ส.ก.ได้ร่วมกันอภิปรายรายละเอียดภาพรวมการตั้งงบประมาณหน่วยงานของกทม. ทั้งในระดับสำนัก และสำนักงานเขต และปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนควบคู่กัน อาทิ ด้านการสาธารณสุข ระบบส่งต่อ การดูแลผู้ป่วยในสถานการณ์ฉุกเฉินและวิกฤติ ด้านความปลอดภัย การอบรมให้ความรู้การป้องกันเหตุอัคคีภัย โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ด้านการศึกษา การพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ และการดูแลสวัสดิการครูพี่เลี้ยง คุณภาพของอาหารกลางวันและนมโรงเรียน โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่เขตต่างๆ การจัดเก็บภาษีให้ครอบคลุม การกำหนดจุดติดตั้งกล้องCCTV เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการปรับปรุงคุณภาพถนน ตรอก ซอก ซอย และการเพิ่มอัตรากำลังพนักงานกวาดให้สอดคล้องกับพื้นที่
รวมถึง ส.ก.ได้อภิปรายภายใต้ความระมัดระวังและความรอบคอบ โดยคำนึงถึงข้อจำกัดของสภา กทม. ซึ่งไม่ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองในการแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็น ดังเช่นสมาชิกรัฐสภา สำหรับในแต่ละประเด็นที่มีการอภิปราย
ผ่านงบปี 66 วาระแรก ชง
ต่อมาในเวลา 15.30 น. สภากทม.ลงมติเห็นชอบในหลักการ และตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 62 คน แบ่งเป็นฝ่ายสภากทม. 47 ท่าน และฝ่ายบริหาร 15 ท่าน กำหนดแปรญัตติภายใน 15 วัน และกำหนดระยะเวลาการพิจารณา 45 วัน เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมสภากทม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนประกาศใช้ข้อบัญญัติ อีกครั้งในวันที่ 18 สิงหาคม 2565 เพื่อทันให้หน่วยงานนำไปใช้ในการดำเนินภารกิจดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนต่อไป
“ในการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ผู้ว่ากทม. ทำหน้าที่ในส่วนของฝ่ายบริหาร กำหนดนโยบาย และ สภากทม. ทำหน้าที่ในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติ ตรวจสอบ ติดตามการบริหารราชการของฝ่ายบริหาร เสนอและพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อบัญญัติของกทม. รวมถึงการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีของกทม.ให้เกิดความคุ้มค่าและโปร่งใส โดยทั้งสองส่วนเป็นผู้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่คนละมิติ แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือเพื่อประโยชน์และคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวกรุงเทพฯ”โฆษก สภากทม. กล่าว
คณะโฆษกสภากทม.
ขอบคุณ ส.ก. ช่วยสแกนปัญหา
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม. กล่าวในที่ประชุมสภากทม. ว่า การอภิปรายครั้งนี้เหมือนกับการเห็นปัญหาที่แท้จริง ต้องขอบคุณคำอภิปรายของส.ก.ทุกท่าน เป็นคำอภิปรายที่มีคุณค่า ทุกข้อที่เสนอมาจะรับและนำไปสั่งการปฏิบัติเนื่องจากเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ถือว่าเป็นความร่วมมือกัน งบบางส่วนอาจจะดูน้อยแต่จริงๆแล้วจะมีงบอุดหนุนรัฐบาลอีกส่วนหนึ่ง เช่น งบการศึกษาซึ่งรัฐจะสนับสนุน หากพิจารณาสิ่งที่ส.ก.อภิปรายจะเห็นว่า ปัญหาที่ท่านนำเสนอเป็นปัญหาเดียวกับที่เราได้กำหนดนโยบาย กทม.มีทั้งระบบเส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอย ระบบเส้นเลือดใหญ่จะอยู่ที่สำนัก เป็นโครงการใหญ่ที่ใช้เงินเป็นจำนวนมาก แต่เส้นเลือดฝอยจะอยู่ที่เขตมากกว่า ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับเส้นเลือดใหญ่มากกว่าทำให้งบประมาณบางครั้งจะอยู่ที่สำนัก แต่ส.ก.เห็นตรงกันว่าปัญหาส่วนใหญ่จะอยู่ที่คนในพื้นที่ อยู่ที่เส้นเลือดฝอย งบประมาณจึงควรอยู่ที่เส้นเลือดฝอย และทำให้ชัดเจนขึ้น
“ปัญหาหลักตอนนี้คือรายได้ของกทม. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หลายท่านกังวลถึงประสิทธิภาพในการจัดเก็บซึ่งก็เห็นด้วยว่าฐานข้อมูลตรงนี้ยังไม่ครบถ้วน หากพัฒนาฐานข้อมูลได้ละเอียดจะทำให้การจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น รวมถึงการจัดเก็บภาษีป้าย เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกทม. โดยข้อมูลการจัดเก็บภาษีทั้งหมดจะเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบด้วย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส สำหรับข้อกังวลเรื่องค่าจัดเก็บขยะของห้างสรรพสินค้า ในความเป็นจริงสถานประกอบการขนาดใหญ่จะมีวิธีการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ มีการRecycle นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้มาก ดังนั้น เมืองเองควรเรียนรู้จากภาคเอกชน ในส่วนของเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว เรื่องภาระหนี้ ซึ่งต้องพิจารณาที่มาที่ไปให้รอบคอบต่อไป ซึ่งต่อไปจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกับสภากทม.เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเป็นไปตามข้อบังคับที่ควรจะเป็น สำหรับการติดตามประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ ขอยืนยันว่าคณะผู้บริหารชุดนี้มีนโยบายที่จะใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าสูงสุด ยินดีที่ส.ก.จะมาร่วมตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณให้เข้มข้นมากขึ้น” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นทั้งหมดจะรับไปดูรายละเอียดและหาวิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ส.ก.ได้อภิปราย อาทิ ปัญหาขยะตกค้าง ถนนชำรุด การขุดลอกคลองและท่อระบายน้ำ การเตรียมพร้อมนโยบายการเปิดเมือง การดูแลกลุ่ม 608 กองทุนพัฒนาชุมชน สวัสดิการครูพี่เลี้ยงเด็ก ปัญหาไฟฟ้าแสงสว่าง การเพิ่มโรงพยาบาล และระบบสาธารณสุขในระดับปฐมภูมิซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของกทม. การปรับปรุงสวนสาธารณะ การเปิดพื้นที่ให้เป็นตลาดเพื่อสร้างเศรษฐกิจและเป็นแหล่งทำมาหากินให้ประชาชน ความล่าช้าการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ การแก้ไขระเบียบกทม.เกี่ยวกับเบิกค่าใช้จ่าย การจัดหาเครื่องมือดับเพลิงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และความต้องการ
ทั้งนี้ ข้อมูลของส.ก.มีคุณค่า เนื่องจากทุกท่านเข้าถึงประชาชนและเห็นปัญหามากกว่าตน ทุกเรื่องจะรับ จัดลำดับความสำคัญของปัญหาและรีบไปดำเนินการให้โดยเร็วที่สุด ขอบคุณท่านประธาน สมาชิก ทำกรุงเทพฯให้เป็นเมืองที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน บรรยากาศเป็นอันหนึ่งอันเดียว การพูดกับสมาชิกเหมือนกับการพูดกับประชาชน เพราะท่านเป็นตัวแทนที่มีเกียรติที่มาจากการเลือกของประชาชน