‘กพช.’ มีมติเห็นชอบให้ ‘ปตท.’ จัดหา ‘LNG’ เพิ่มอีก 1 ล้านตัน/ปี จากปัจจุบันที่มีสัญญานำเข้าแล้ว 5.2 ล้านตัน/ปี หวังสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ขณะที่ ‘โฆษกกระทรวงพลังงาน’ ยัน ‘ค่าการตลาดน้ำมัน’ ยังอยู่ในกรอบ
...........................
เมื่อวันที่ 6 ก.ค. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดหา LNG สัญญาระยะยาว ปริมาณ 1 ล้านตัน/ปี เพิ่มเติมจากสัญญาระยะยาวที่มีการลงนามแล้ว 5.2 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ การจัดหา LNG ดังกล่าว ให้เริ่มส่งมอบตั้งแต่เดือน ม.ค.2569 เป็นระยะเวลา 15-20 ปี
พร้อมกันนั้น กพช. ยังได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำกับดูแลให้ราคา LNG ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กพช.กำหนด เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน เป็นธรรม โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติและเป็นทางเลือกแก่ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ
“จากมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งการพัฒนาโครงการผลิต LNG แหล่งใหม่ และการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอ่าวไทยที่มีปริมาณจำกัด ความเสี่ยงจากสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ รวมถึงความไม่สงบทางการเมืองในประเทศเมียนมา ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้ประเทศมีการผลิตและจัดหาก๊าซธรรมชาติในปริมาณที่ลดลง
ดังนั้น กพช. จึงเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดหา LNG เพิ่มเติมจากสัญญาระยะยาวแทนการจัดหา Spot LNG เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด Spot LNG ประกอบกับประเทศไทยยังต้องมีการจัดหา LNG เพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ไว้ล่วงหน้า จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย ซึ่งข้อเสนอการจัดหาก๊าซ LNG ของ ปตท. ดังกล่าว จะช่วยลดความเสี่ยงในการจัดหา LNG ในอนาคต และเป็นส่วนสำคัญที่จะเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ อย่างไรก็ตาม ขอฝากให้ กกพ. ติดตามผลกระทบต่อราคาอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในประเทศในอนาคต
“การนำเข้าก๊าซจะเกิดขึ้นในปี 2569 ในขณะที่ความผันผวนด้านราคาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอาจจะสิ้นสุดลงแล้ว หรืออาจจะมีต่อไปก็ได้ ดังนั้น จะเสี่ยงไม่ได้ โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ การแข่งขันของผู้ประกอบการ รวมทั้งขอให้ กกพ. กำกับดูแลการจัดหา LNG ให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นไปตามมาตรฐานสากล ให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ ยังระบุว่า จากสถานการณ์ด้านพลังงานในขณะนี้ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดจะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยคำนึงถึงหลักการ ข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงต่างๆ ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญ คือ ความเข้าใจ ความไว้วางใจ จึงขอให้ทุกคนได้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากช่องทางสื่อต่างๆ เพื่อนำไปสู่การทำความเข้าใจ มีเหตุผลในการชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน
“สิ่งสำคัญในวันนี้ คือ การขับเคลื่อนไปสู่การประหยัดพลังงาน ที่ต้องมีรูปแบบการประหยัดพลังงานที่จะเกิดผลตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง และส่งผลกับประชาชน ซึ่งประชาชนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมช่วยกันประหยัดพลังงานด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ขณะที่ นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวเกี่ยวกับค่าการตลาดของสถานีบริการน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ว่า การพิจารณาค่าการตลาดควรดูในภาพรวมของทุกชนิดน้ำมัน เพราะสถานีบริการน้ำมันไม่ได้จำหน่ายน้ำมันเพียงชนิดเดียว และไม่ควรเปรียบเทียบค่าการตลาดเป็นรายวัน เนื่องจากราคาเนื้อน้ำมันมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงทุกวันตามราคาตลาดโลก จึงต้องพิจารณาค่าเฉลี่ยเป็นรายเดือน
ทั้งนี้ หากพิจารณาในปีนี้ จะพบว่าค่าเฉลี่ยของค่าการตลาดในแต่ละเดือน ยังอยู่ในกรอบที่ภาครัฐติดตามดูแล โดยค่าการตลาดโดยรวมของสถานีบริการ (เฉลี่ยของทุกชนิดน้ำมันทั้งเบนซินและดีเซล) ตั้งแต่วันที่ 1-6 ก.ค.2565 อยู่ที่ 2.17 บาทต่อลิตร ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของปี 2564 ทั้งปีทั้งอยู่ที่ 2.14 บาทต่อลิตร และอยู่ในกรอบที่ภาครัฐติดตามดูแล คือ 2.00 บาทต่อลิตร บวกลบ 0.40 บาทต่อลิตร
“หากจะพิจารณาค่าการตลาดน้ำมัน ควรจะดูในภาพรวมของผลิตภัณฑ์ที่มีการจำหน่าย ทั้งน้ำมันเบนซินและดีเซล ซึ่งภาครัฐได้มีการศึกษากรอบค่าการตลาดซึ่งควรอยู่ที่ 2 บาท และบวกลบได้ 0.40 บาทต่อลิตร ซึ่งหากพิจารณาค่าการตลาดตั้งแต่วันที่ 1-6 ก.ค.2565 ค่าการตลาดน้ำมันเฉลี่ยทุกประเภท ทั้งน้ำมันเบนซินและดีเซลจะอยู่ที่ 2.17 บาทต่อลิตร ซึ่งก็อยู่ในกรอบที่ภาครัฐกำหนด” นายสมภพ กล่าว